EDU Research & ESG

หลักสูตรระยะสั้นโรงเรียนเอกชนกู้กยศได้ หลังสช.ทำเอ็มโอยูกับกยศ.ปี2566/67



กรุงเทพฯ-กยศ. - สช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) ณ ห้องประชุม ศ.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อ30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) สำหรับปีการศึกษา 2566 – 2567 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

นายนพ ชีวานันท์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่มีความประสงค์จะศึกษาในลักษณะอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม ในปีการศึกษา 2566 – 2567 ให้แก่โรงเรียนนอกระบบ ประเภทวิชาชีพ กลุ่มโรงเรียนบริบาล ในการกำกับดูแลของ สช. และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาในหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อนำไปสู่โอกาสในการมีอาชีพที่มั่นคง รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ตรงตามความต้องการอย่างเหมาะสม และการทำความตกลงในครั้งนี้ยังสอดรับกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตอบสนองต่อความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายนพ ชีวานันท์ กล่าวต่อว่า ขอบเขตความร่วมมือในการดำเนินการในครั้งนี้ สช. และ กยศ. จะร่วมกันพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนนอกระบบ ประเภทวิชาชีพ กลุ่มโรงเรียนบริบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ กยศ. และ สช. กำหนด เพื่อให้เข้าร่วมดำเนินโครงการนำร่องฯ กับ กยศ. และกำกับให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ร่วมกันกำหนดและคัดเลือกหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการนำร่องฯ ร่วมกัน

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากความเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้การศึกษานอกระบบซึ่งเป็นการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น เช่น หลักสูตรการบริบาล การท่องเที่ยว การนวดและสปาภาษาต่างประเทศ และการโรงแรม ซึ่งนับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำความร่วมมือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยการทำความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นและนิมิตหมายอันดีของการส่งเสริมให้การศึกษาเอกชนนอกระบบมีศักยภาพในการผลิต และพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และการพัฒนาประเทศ โดยเป็นการมุ่งสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ให้แก่ผู้เรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้น ได้มีค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ในการยกระดับทักษะ สมรรถนะของตนเอง นำไปสู่โอกาสในการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ดี มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ตรงความต้องการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของรัฐบาล

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยว่า “ขณะนี้ กองทุนได้เตรียมความพร้อมสำหรับการให้กู้ยืมเงินในลักษณะที่ 5 ลักษณะอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงการศึกษาที่หลากหลาย ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กองทุนจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดำเนินการโครงการนำร่องการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) เพื่อนำไปสู่โอกาสในการมีอาชีพที่มั่นคง รวมถึงเพื่อการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ตรงตามความต้องการอย่างเหมาะสม โดยจะเริ่มจากหลักสูตรการดูแลเด็กเล็กและดูแลผู้สูงอายุ ของโรงเรียนนอกระบบ ประเภทวิชาชีพ กลุ่มโรงเรียนบริบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งผู้เรียนจะมีงานทำแน่นอนหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนนอกระบบ รายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยจะมีระยะเวลาการดำเนินการโครงการนำร่อง 2 ปี (ปีการศึกษา 2566-2567) ให้เงินกู้ยืมเป็นค่าเล่าเรียนไม่เกิน 50,000 บาท/หลักสูตร/คน/ครั้ง กำหนดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี

สำหรับคุณสมบัติของนักเรียน นักศึกษาที่จะขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในลักษณะที่ 5 กำหนดให้มีอายุ 18 - 60 ปีบริบูรณ์ ศึกษาในหลักสูตร/สาขาวิชาตามประกาศที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด ต้องทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 2 ปี ก่อนการยื่นขอกู้ยืม และต้องไม่กู้ยืมซ้ำซ้อนกับลักษณะอื่น ๆ ณ ปีการศึกษานั้น ๆ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถ พัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้กับประชาชนผู้ที่ต้องการพัฒนาหรือต่อยอดการเรียนรู้ สามารถประกอบอาชีพมีงานทำและสร้างรายได้ในระยะยาวต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามประกาศและรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด