Travel Sport & Soft Power

'กบ-เขียด-อึ่ง'ออกรับฝนใหม่ชาววังโป่งยิ้ม!!ทั้งกินและขาย



เพชรบูรณ์-นาทีทอง ชาวบ้านเฮลั่น ฝนตกหนักออกหาจับอึ่ง กบ เขียด ตามวิถีชุมชน ส่วนหนึ่งกักตุนไว้บริโภคช่วงโควิด บางส่วนแบ่งขายสร้างรายได้งาม

ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังจากช่วงค่ำวานนี้ ในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องนับชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายร้อนจากสภาพอากาศที่อบอ้าว และส่งผลดีแก่พื้นที่ทางการเกษตรแล้วนั้น  ยังพบว่าถือเป็นช่วงนาทีทองของชาวบ้าน ในพื้นที่ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่างพากันจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์พร้อมไฟส่องสว่าง ออกหาจับอึ่ง จับกบ จับเขียด ซึ่งออกมาเล่นน้ำ ส่งเสียงร้องหาคู่ผสมพันธ์กันตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคน ก็ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ตามความสามารถ  ซึ่งช่วยให้ชาวบ้าน ได้มีอาหารกักตุนไว้บริโภคช่วงสถานการณ์โควิด-19ในขณะนี้  ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว  และเมื่อเหลือจากรับประทาน ก็ยังสามารถแบ่งไปขายตามท้องตลาด ช่วยสร้างรายได้เสริมอย่างงาม อีกด้วย

สอบถาม นางสวาท ปทุมตา อายุ 57ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 166 หมู่7 บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกปีหลังจากฝนแรก ที่ตกลงมาอย่างหนัก จนมีน้ำท่วมขังตามท้องทุ่งนาและตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ  ชาวบ้านจะรีบพากันจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ลักษณะเป็นบ่วงตาข่ายต่อด้ามไม้ยาวพอเหมาะสำหรับใช้จับ อึ่ง กบ และเขียด ตลอดจนสัตว์น้ำ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารรับประทานในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่าย และส่วนหนึ่งก็จะแบ่งขาย  แต่ว่าในปีนี้ ตนตั้งใจจะไม่ขายจะเก็บเอาไว้ทำกินและจะส่งไปให้ลูกสาวที่กรุงเทพ เพราะลูกๆไม่ได้กลับมาบ้านเพราะช่วงโควิด

ส่วน น.ส.ทองสุ่น บัวงาม อายุ52 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 69  หมู่7 ชาวบ้านวังไทรทอง  เล่าว่า ตนเองกับสามีได้ออกไปจับอึ่งช่วง3ทุ่มถึง4ทุ่ม ได้มาเพียง 20กิโลกรัม แล้วกลับเข้าบ้านเพื่อพักผ่อน จนถึงเวลาตี4 ก็ได้ออกไปจับอีกรอบ ตนจับได้ทั้งอึ่ง กบ เขียด ปู แมลงดา  ถึงแม้ราคาซื้อขายอึ่ง จะมีราคาดี สร้างรายได้อย่างงาม แต่เนื่องจากเป็นอาหารตามฤดูกาล ทำให้ในแต่ละปี จะสามารถจับอึ่งได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเก็บเอากินอีกเอาไปขายสร้างรายได้ให้แกครอบครัว

โดยในปีนี้ พบว่าราคาซื้อขายอึ่ง  จะแบ่งออกเป็น อึ่งโกรกหรืออึ่งข้างลาย ตัวที่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 150-180 บาท อึ่งโกรกหรืออึ่งข้างลาย ไม่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 120 บาท อึ่งยาง ขายรวมราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท นอกจากนั้น ชาวบ้านยังสามารถหาจับ กบ และ เขียด มาขายในคราวเดียวกัน  โดย กบนา ขายราคา กิโลกรัมละ 200 บาท  เขียดสด ขายราคากิโลกรัมละ 150 บาท และ หากนำเขียดสดมาแปรรูปเป็นเขียดแดดเดียว ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่า ขายได้ราคากิโลกรัมละ  500-600 บาท ส่วนแมลงดา ตัวผู้ ตัวละ20บาท ตัวเมีย ตัวละ10บาท ส่วนปูนา กิโลกรัม40บาท ซึ่งชาวบ้านแต่ละคน  นอกจากจะกักตุนไว้บริโภคในครัวเรือนช่วงโควิดแล้วนั้น  ยังแบ่งมาขายสร้างรายได้เสริม คนละกว่า 500 - 2,000 บาทเลยทีเดียว

เดชา  มลามาตย์/มนสิชา  คล้ายแก้ว