EDU Research & ESG

วว.ให้บริการเครื่องIRMSบ่งชี้แหล่งผลิต ความเป็นของแท้/ในอาหารและเครื่องดื่ม



กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) ในส่วนของห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา ได้ทำการติดตั้ง เครื่องไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมตรี Elemental analyser isotope ratio mass spectrometry (EA-IRMS) และ Gas-chromatography isotope ratio mass spectrometry (GC-IRMS) พร้อมเปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบหาอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุ (Stable Isotope Ratios Analysis) ในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเปิดให้บริการในรายการ  Stable carbon isotope ratio (13C-IRMS), Stable oxygen isotope ratio (18O-IRMS), Stable hydrogen isotope ratio (2H-IRMS) คิดค่าบริการ 5,000 บาทต่อตัวอย่าง และค่าบริการ 3,000 บาทต่อตัวอย่าง ( ในกรณีมากกว่า 5 ตัวอย่างต่อหนึ่งคำขอบริการ )

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ  วว. กล่าวว่า  เครื่องไอโซโทปเรโซแมสสเปคโตรเมตรีชนิด IRMS เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอัตราส่วนของไอโซโทปที่เสถียรของธาตุต่างๆในตัวอย่างใช้สำหรับการหาความแตกต่างของอัตราส่วนไอโซโทปที่แตกต่างกันของจำนวนนิวตรอนในนิวเคลียส โดยเทคนิคนี้สามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแหล่งที่มา แหล่งผลิต แหล่งของวัตถุดิบ อายุของตัวอย่าง โดยมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในด้านชีววิทยา ธรณีวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ งานอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อบ่งชี้แหล่งผลิตความเป็นของแท้ (Authenticity) และการตรวจจับการปลอมปน (Adulteration) เช่น การใช้ 13C values ในการตรวจจับการปลอมปนน้ำตาลในน้ำผลไม้ 100%  โดยอาศัยหลักการเรื่องการสังเคราะห์แสงของพืช C3 และ C4 หรือ CAM เป็นต้น

ดร.วดี  วิชัยดิษฐ์  ผอ.ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว.   กล่าวว่า   ไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมตรีเป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์หาอัตราส่วนไอโซโทป (Isotope ratio) ของธาตุต่างๆในตัวอย่าง ทั้งคาร์บอน-13C/12C, ไนโตรเจน-15N/14N, ไฮโดรเจน-2H or D/1H, ออกซิเจน-18O/16O และกำมะถัน-34S/32S  การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวภาพของตัวอย่างในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ตัวอย่างชนิดเดียวกันหรือสารตัวเดียวกันมีอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุต่างๆ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  เปรียบเสมือนลายนิ้วมือ (Isotopic fingerprints) ที่มีความเฉพาะเจาะจง ทำให้การวิเคราะห์อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุถูกนำไปใช้ในงานด้านต่างๆอย่างแพร่หลาย อาทิ งานด้านนิติวิทยาศาสตร์ งานด้านความมั่นคง วิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชวิทยา พฤษศาสตร์ ปิโตรเคมี สิ่งแวดล้อม อาหารและเครื่องดื่ม

โดยการตรวจสอบเพื่อบ่งชี้ความเป็นของแท้ของผลิตภัณฑ์และการตรวจสอบการปลอมปน (Authenticity and Adulteration) นอกจากเป็นการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้วยังสามารถใช้เป็นการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้า ซึ่งปัญหาการปลอมปนในปัจจุบันพบทั้งการเติมสารเติมแต่งและน้ำในผลิตภัณฑ์ เช่น การเติมสารให้ความหวานในน้ำผลไม้ 100% การเติมน้ำตาลอ้อยในน้ำผึ้ง การเติมสารให้ความหวานและน้ำในไวน์ รวมถึงการระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (mislabeling) เช่น การระบุแหล่งที่มาของเมล็ดกาแฟ หรือการระบุชนิดของน้ำตาลระหว่าง cane sugar กับ beet sugar เป็นต้น

นางสุภาพร  จิรไกรโกศล   ผอ.ห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยาวว.  กล่าวว่า  การวิเคราะห์อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุต่างๆในตัวอย่างด้วยเครื่องไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมตรี (IRMS)จะเริ่มจากการเปลี่ยนธาตุต่างๆ ได้แก่ ธาตุไฮโดรเจนให้กลายเป็นแก๊สไฮโดรเจน  ธาตุคาร์บอนให้กลายเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ธาตุออกซิเจนให้กลายเป็นแก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ ธาตุไนโตรเจนให้กลายเป็นแก๊สไนโตรเจน และธาตุซัลเฟอร์ให้กลายเป็นแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ การเปลี่ยนรูปสารประกอบต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นจะทำการวิเคราะห์หาอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุต่างๆในตัวอย่าง โดยการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคนี้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบทั้งหมดในตัวอย่างรวมกัน (bulk analysis) โดยทั้งตัวอย่างที่เป็นของแข็งหรือของเหลวจะเปลี่ยนเป็นแก๊สต่างๆด้วยความร้อนสูง ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ Combustion กับ Pyrolysis และแบบแยกแต่ละองค์ประกอบที่มีในตัวอย่าง

(Specific compound analysis) โดยเริ่มต้นจากการแยกสารประกอบในตัวอย่างออกจากกันด้วยเทคนิคโครมาโทรกราฟที่เหมาะสม ก่อนนำเข้าสู่เครื่อง IRMS ผลการวัดที่ได้จะรายงานในรูปของความแตกต่างระหว่างอัตราส่วนไอโซโทปเสถียรของตัวอย่างเทียบกับอัตราส่วนไอโซโทปเสถียรของสารอ้างอิงมาตรฐาน โดยแสดงในรูปสัญลักษณ์ delta และหน่วยเป็น ‰ อ่านว่า per mil หรือ pasts per thousand

วิธีมาตรฐานการทดสอบอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุในงานอาหารและเครื่องดื่มเป็นวิธีที่องค์กรระดับประเทศและนานาชาติเลือกนำมาใช้ เช่น   AIJN, EU, IFU, Codex เป็นต้น

ตัวอย่างการนำเครื่องไอโซโทปเรโชแมสสเปคโตรเมตรีไปใช้ดังนี้

1) การตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารด้วยการวิเคราะห์อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละแหล่งเพาะปลูก สภาพแวดล้อมแหล่งน้ำและพื้นดิน ส่งผลให้พืชมีองค์ประกอบของสารเคมีที่มีความเฉพาะตัว ดังนั้นการวิเคราะห์หาอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน จึงสามารถนำมาใช้ยืนยันแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้  เช่น การหาแหล่งที่มาของเมล็ดกาแฟ เป็นต้น

2) การตรวจสอบการปลอมปนของผลิตภัณฑ์ด้วยการวิเคราะห์อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุคาร์บอนพืช C3 และพืช C4 มีวิธีการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อมาสร้างเป็นอาหารแตกต่างกัน ส่งผลให้อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุคาร์บอน-13 ต่อ คาร์บอน-12 แตกต่างกัน โดยพืช C3 มีค่าอยู่ในช่วง -33 ‰to -22 ‰ และพืช C4 มีค่าอยู่ในช่วง-16 ‰ to -8 ‰และจากความแตกต่างนี้ ทำให้สามารถใช้อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุคาร์บอน ตรวจสอบการปลอมปนที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเติมสารให้ความหวานกลุ่มพืช C4 ลงในผลิตภัณฑ์ เช่น การเติม corn syrup ในน้ำมะพร้าว 100% หรือการเติมน้ำตาลอ้อยในน้ำผึ้งเป็นต้น

3) การตรวจสอบและยืนยันการเพาะปลูกแบบออร์แกนิค โดยอาศัยความแตกต่างของอัตราส่วนไอโซโทปของธาตุไนโตรเจนของปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี ในการยืนยันการเพาะปลูกแบบออร์แกนิคที่ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี โดยปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizers) จะมีค่าδ15Nอยู่ในช่วง +8‰ ถึง +20‰และปุ๋ยเคมี (synthetic fertilizers) อยู่ในช่วง +3‰ ถึง +6‰

ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยาวว.มีภารกิจในการเป็นหน่วยร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง ดังนี้

1) บริการทดสอบ /วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและวัตถุดิบ เพื่อการผลิตในระบบคุณภาพตามมาตรฐาน การขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์

2) บริการทดสอบ /วิเคราะห์อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารและยา

3) บริการสอบเทียบมาตรฐาน เครื่องมือวัดทางมาตรวิทยาอุตสาหกรรม เครื่องทดสอบ ทั้งภายในและภายนอกสถานที่

4) บริการตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม หมวดสาขาบริภัณฑ์ส่องสว่าง ไฟฟ้ากำลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์

5)  บริการฝึกอบรมและบริการที่ปรึกษาในการวิเคราะห์/ทดสอบ สอบเทียบ และการจัดทำระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

6)  บริการเป็นหน่วยงานผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17043

7)  เปิดเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน

8)  บริการรับ-ส่ง เครื่องมือที่มีปริมาณมาก

สอบถามรายละเอียดและติดต่อรับบริการจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. ได้ที่  โทรศัพท์  0 2323 1672-80โทรสาร  0 2323 9165  E-mail : nitchakul@tistr.or.th (ณิชกุล)  E-mail : kitti_b@tistr.or.th (กิตติ) หรีอที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/