Think In Truth
เบื้องลึกSoft Powerในกระแสสังคมโลก ยุคปัจจุบัน โดย...พินิจ จันทร
เมื่อตอนที่แล้วได้รายงานเกี่ยวกับ Soft Power ฉบับไทยไปแล้ว ในฉบับนี้จะขอหยิบยก Soft Power ระดับอินเตอร์มานำเสนอบ้างว่ามันคืออะไรและเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถนำมาใช้ให้ก่อประโยชน์สำหรับคนไทยมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Soft Powerเป็นนโยบายทางการเมืองชนิดหนึ่งที่ใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีซโบราณจนถึงยุคปัจจุบันโดยนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในด้านนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ความน่าสนใจหลักของ Soft Power ก็คือ เป็นการชักจูงผู้คนให้เกิดความเห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือ โดยที่ไม่ต้องใช้ลูกกระสุน หรือเงินตรา มาช่วยในการบิดเบือนเจตนารมณ์(รัฐบาลเพื่อไทยระบุว่ามันไม่ใช่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์)
ในยุคปัจจุบันนี้ การทำสงครามระหว่างประเทศด้วยยุทโธปกรณ์โดยตรงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนกับยุคอดีต ส่วนใหญ่ถือว่าไว้ขู่เพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น การรบส่วนใหญ่ในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของการทูต และนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดย Soft Power ก็เป็นหนึ่งในอาวุธที่อาจจะไม่ได้มีไว้โจมตี แต่มันก็ช่วยเพิ่มอิทธิพลให้กับประเทศได้
ภาพจาก : http://www.vijaichina.com/%E0%B8%BAbook-reviews/597
Joseph S. Nye Jr. อดีตคณบดีของสถาบัน Kennedy School of Government แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่สร้างนิยามของคำว่า Soft Power เป็นคนแรก โดยเขาได้เขียนบทความที่มีชื่อเรียบง่ายว่า Soft Power เผยแพร่ในวารสาร Foreign Policy ในปี ค.ศ. 1990 หรือ พ.ศ. 2533 (หากสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่ชื่อว่า Soft Power and American Foreign Policy)
โดยนิยาม ของ Nye ได้ระบุเอาไว้ว่า Soft Power คือ พลังที่สามารถส่งผลกระทบต่อความต้องการทรัพยากรที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น วัฒนธรรม, อุดมการณ์ หรือความเชื่อที่มีต่อสถาบันต่าง ๆ โดยรัฐสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยการออกนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้รัฐ หรือประเทศอื่นยอมรับในความต้องการนั้นได้
ตัวอย่างน่าสนใจที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ก็อย่างเช่น สงครามเย็น (Cold war) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) - ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งเป็นสงครามแห่งความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตามมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกลุ่มสหภาพโซเวียตและประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศพันธมิตรจากทั้งกลุ่มตะวันออกและกลุ่มตะวันตก
สงครามเย็นไม่มีการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันโดยตรงอย่างรุนแรงเหมือนกับสงครามโลก แต่มันเป็นการที่สองฝ่ายต่างสนับสนุนความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุของความขัดแย้งก็มาจาเหตุผลด้านแนวคิดการปกครอง เป็นการสู้กันระหว่างกลุ่มลัทธิมากซ์–เลนินที่เป็นตัวตึงคอมมิวนิสต์ที่รัฐต้องการควบคุมทุกอย่างเพียงกลุ่มเดียวกับกลุ่มรัฐทุนนิยมที่สนับสนุนการเลือกตั้งเสรีและสื่อแบบเสรี อีกทั้งยังมีกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดด้วยอีกหนึ่งกลุ่ม
ท่ามกลางความตึงเครียดนั้น สหรัฐอเมริกาได้ใช้ Soft Power ด้วยการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเองทางคลื่นวิทยุและนำศิลปินแจ๊สชื่อดัง มาเดินสายออกแสดงในพื้นที่ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้ความนิยมของสหภาพโซเวียตตกต่ำลง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ไปในสงครามเย็น
ภาพจาก https://www.theguardian.com/music/2018/may/03/jazz-ambassadors-america-cold-war-dizzy-gillespie
หรืออีกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราเห็นกันเป็นประจำในยุคนี้ ก็คือการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศเกาหลี ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การสอดแทรกวัฒนธรรมการดื่มเหล้าโซจู การกินรามยอนที่มีสอดแทรกเอาไว้ในซีรีส์เกาหลีแทบทุกเรื่อง ทำให้เกิดการส่งออกโซจู และรามยอนสำเร็จรูปออกจากประเทศมากขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่า เพราะทุกคนที่รับชมซีรีส์ต่างก็อยากสัมผัสประสบการณ์แบบนั้นบ้าง นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำ Soft Power ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาพจาก : https://dataintelo.com/report/soju-market/
ความแตกต่างระหว่าง Soft Power กับ Hard Power (Differences between Soft Power and Hard Power)ก็คือ Hard Power (อำนาจแข็ง) หมายถึงการใช้กำลังในการบีบบังคับ อาจจะเป็นการใช้กำลังทหาร หรือใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อให้อีกฝ่ายยอมทำตามด้วยความจำนนเพื่อเอาตัวรอด
ในทางตรงกันข้าม Soft Power จะชักชวนให้คนเปลี่ยนแปลงมามีความเห็นชอบอย่างช้า ๆ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรม, ค่านิยมและแนวคิด
เราสามารถสรุปง่าย ๆ ได้ว่า Soft Power เป็นการพยายามที่จะทำให้เป้าหมาย อยากทำ ในสิ่งที่เราต้องการ ในขณะที่ Hard Power เป็นการบีบบังคับเป้าหมายให้ทำตามความต้องการด้วยการใช้อำนาจที่เหนือกว่า แม้ผลลัพธ์อาจจะเหมือนกัน แต่ว่าในระยะยาวผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ Soft Power จะมีความยั่งยืนกว่ามาก เพราะพวกเขาต้องการมันด้วยความคิดของตัวเอง
ในการทำ Soft Power นั้น ต้องอาศัยปัจจัย หรือความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงจะสำเร็จได้ แต่หลัก ๆ จะมีอยู่ 6 ด้าน ดังต่อไปนี้
1. โลกดิจิทัล :เพราะอินเทอร์เน็ตคือสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก ทุกคนก็สามารถใช้มันในการติดตามข่าวสาร และเข้าถึงวัฒนธรรมของชนชาติใดก็ได้ การใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์, Blogs และ Social media จึงเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่อิทธิพลด้านวัฒนธรรมผ่านการสนทนาบนโลกออกไลน์
2. การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม :การแปลเปลี่ยนวัฒนธรรม ช่วยให้ผู้คนเข้าใจ และเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายแบบ Win-win สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจัดเทศกาล, นิทรรศการ หรือมหกรรมคอนเสิร์ต เพื่อเปิดโอกาสให้ผลงานของศิลปินเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง, ภาพยนตร์ หรืองานศิลปะแขนงใดก็ตาม
3. การศึกษา :โครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาเป็นวิธีที่หลายประเทศกำลังนิยมเลือกใช้มากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุนการศึกษา เพื่อสร้างสัมพันธ์ และยังช่วยในด้านชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงการมีนโยบายที่ช่วยในการไปศึกษาต่อในต่างประเทศสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วยซึ่งหากไปได้สวย นักเรียนต่างชาติมักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วกับเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งมันมีส่วนสำคัญในการช่วยวางรากฐานให้กับภาพลักษณ์ของประเทศบ้านเกิดดูดีขึ้นตามไปด้วย
4. การทูต :การทูตที่แข็งแกร่ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่าง ๆ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญให้สิ่งที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา หรือจัดงานอะไรก็ตาม
5. กีฬา :การจัดงานแข่งกีฬาระดับโลก ได้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการเผยแพร่ Soft Power เราถึงได้เห็นการแย่งชิงโอกาสการได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และเจ้าภาพโอลิมปิก ชาติที่ได้เป็นเจ้าภาพก็จะลงทุนเม็ดเงินจัดเต็มทั้งพิธีเปิด และพิธีปิด เพื่อแสดงวัฒนธรรมของชาติตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะหวังว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจ
แผนเศรษฐกิจที่ดีจะดึงดูดนักลงทุน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีที่ประสบความสำเร็จในการทำ Soft power ด้านนี้ จนกลายเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก อุปกรณ์ทุกชนิดบนโลกนี้ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะยี่ห้ออะไรก็ตาม ก็มักจะถูกผลิตขึ้นที่จีน
ประโยชน์ของ Soft Power (Benefits of Soft Power)
เป็นที่ยอมรับกันดีแล้วว่า Soft Power ช่วยสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต่อประเทศ, ประชาชน, ธุรกิจ และองค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็ตาม
ประเทศที่มีภาพลักษณ์ดี ย่อมส่งอิทธิพลให้คนอยากเข้ามาเที่ยว, ลงทุน หรือมาอยู่อาศัย ซึ่งนั่นหมายความว่าอยากจะมีคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่าจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ชื่อเสียงที่ดียังทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอยากเป็นมิตรด้วย ทำให้การนำเข้า ส่งออกอะไรหลาย ๆ อย่าง ทำได้ง่ายขึ้น
ภาพจาก : https://www.iasparliament.com/current-affairs/gs-ii/sports-as-soft-power
ประเทศที่มี Soft Power ที่แข็งแกร่งที่สุด(Which country has the strongest Soft Power ?)
ในการจัดอันดับค่า Soft Power จะมีหลายปัจจัยที่ถูกนำมาประเมิน องค์ประกอบที่สำคัญอย่างเช่น
- สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและใช้ชีวิต
- คุณภาพการผลิตสื่อที่ดี เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปได้ทั่วโลก
- กฏหมายภายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นธรรม
- การประสบความสำเร็จในโอลิมปิก
- มีนโยบายที่สนับสนุนผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยภายในประเทศ
- จำนวนนักท่องเที่ยว
- อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- ในโลกปัจจุบันที่อินฟลูเอนเซอร์มีความทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความเห็นของสาธารณชนเป็นอย่างมากจำนวนอินฟลูเอนเซอร์จึงมีผลเช่นกัน(อินฟลูเอนเซอร์ หรือ Influencer คือ บุคคลที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, TikTokหรือ YouTube มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นพฤติกรรม และการตัดสินใจซื้อของผู้ติดตาม)
- การส่งเสริมวัฒนธรรม และมรดกตกทอดของชาติ
- ศักยภาพในการเติบโตของประเทศ
สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่ามี Soft Power ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก จากการจัดอันดับในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) อันดับหนึ่งคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America - USA) ตามมาด้วยอันดับสองคือสหราชอาณาจักร (United Kingdom - UK) ส่วนอันดับสามก็คือประเทศเยอรมนี (Germany)
ทางทวีปเอเชีย ก็มีประเทศญี่ปุ่น (Japan) ที่อยู่ในอันดับที่ 4 ตามมาด้วยประเทศจีน (China) ในอันดับ 5 ส่วนประเทศเกาหลีใต้ (South Korea) เองก็เป็นประเทศที่รัฐบาลมีความจริงจังกับนโยบายด้าน Soft Power เป็นอย่างมาก โดยเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญคือกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 24 ที่ถูกจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ผ่าน 14 ปี ตอนนี้ประเทศเกาหลีก็ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 15 ดังที่เราเห็นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์, ศิลปิน, อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งโด่งดังในระดับสากล
บัวขาว บัญชาเมฆ ได้จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว ในการนี้ หลี่เจินเซียง สาวจีนที่ปั่นรถจักรยานมาจากมณฑลเสฉวน ประเทศจีน โดยได้ตั้งใจเดินทางมาซ้อมมวยไทย
ส่วนประเทศไทยในปี 2566 นี้ ก็อยู่ที่อันดับอันดับ 41 คำว่า Soft Power ในประเทศไทยนั้นเป็นคำที่ไม่ได้ยินมานาน คนใหญ่คนโตในบ้านเราเพิ่งจะหันมาเห็นความสำคัญจากการที่มีอินฟลูเอนเซอร์คนไทยทำอะไรบางอย่างบนเวทีโลกและสามารถสร้างกระแส จนสินค้าที่ อินฟลูเอนเซอร์ แนะนำได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น การกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีบนเวที Coachella ของศิลปินมิลลิ (Milli) หรือแม้แต่ ลิซ่า (Lisa) แห่งวง BLACKPINK ที่หยิบอะไรโพสต์ลง Instagramก็ทำให้สินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมตามไปด้วย หรือแม้แต่ทางด้านศิลปะมวยไทยและประเพณีลอยกระทงก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อย่างนี้เป็นต้น
ท้ายสุด Soft Power จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบขึ้นจากนโยบาย, โครงสร้าง และความร่วมมือจากทุกฝ่าย มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายในชั่วพริบตาหากแต่จะต้องมีแผนการที่ดีและมีความตั้งใจดำเนินการต่อเนื่องอย่างจริงจัง.