Think In Truth

จับตา...อภิมหาเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ 1ลล.บ.(ตอนที่2) โดย ... พินิจ จันทร



เมื่อตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “อภิมหาเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์”ส่วนตอนที่ 2 ต่อไปนี้จะได้วิเคราะห์ถึงผลที่จะได้รับหากสำเร็จเสร็จสิ้นตามโครงการที่วางเอาไว้ ก็คือ จะเป็นการพลิกโฉมเส้นทางการขนส่งของโลกและที่สำคัญสำหรับคนไทยหรือประเทศไทยในแง่เศรษฐกิจ ก็คือ จะเป็นประตูการค้าใหม่ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้เกิดขึ้นในอนาคต

แลนด์บริดจ์หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หากสามารถลงทุนพัฒนาได้ตามเป้าหมายจะเป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด“One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ 

การศึกษาได้คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งที่เหมาะสมได้แล้ว คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด  1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1. การก่อสร้างท่าเรือ มูลค่าลงทุนรวม 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 305,666.44 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู, ท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 330,810.56 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู)

2. การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่าลงทุนรวม 141,103.47 ล้านบาท (ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 86,397.85 ล้านบาท ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 54,705.62 ล้านบาท)

3. เส้นทางเชื่อมโยงชุมพร-ระนอง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ มูลค่าลงทุนรวม 223,626 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เโดยจะแบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟสย่อย ดังนี้

แผนลงทุน เฟส 1/1มีมูลค่ารวม 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 118,519.50 ล้านบาท รองรับ 4 ล้านทีอียู ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 141,716.02 ล้านบาท รองรับ 6 ล้านทีอียู

- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท

- เส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร

แผนลงทุน เฟส 1/2 มีมูลค่ารวม 164,671 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ขยายท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 118,809.53 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 45,644.75 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 8 ล้านทีอียู ขยายท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 73,164.78 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 12 ล้านทีอียู

- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 23,952.30 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 10,498.30 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 13,454 ล้านบาท

- เส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 21,910 ล้านบาท โดยเป็นการขยายมอเตอร์เวย์จากขนาด 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร

แผนลงทุน เฟส 1/3 มีมูลค่ารวม 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ขยายท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 189,151.75 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 73,221.99 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 14 ล้านทีอียู ขยายท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 115,929.76 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 20 ล้านทีอียู

- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 39,361.04 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 20,888.52 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 18,472.52 ล้านบาท

แผนลงทุน เฟส 1/4มีมูลค่ารวม 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ขยายท่าเรือ ฝั่งชุมพร มูลค่า 68,280.20 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 20 ล้านทีอียู

- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 16,897.57 ล้านบาท

สำหรับแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ออกแบบเป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ทั้งรางขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทาง 89.35 กม. แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ (อ.เมืองระนอง จ.ระนอง และ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร)

ด้วยประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ในการเป็นประตูการค้า การขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่างๆ ของโลก โดยมองว่าแลนด์บริดจ์จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

จากการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเดินเรือหลักสายใหม่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อมี "แลนด์บริดจ์" โดยจะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) มีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

ในการศึกษาโมเดลรูปแบบการเคลื่อนที่ของสินค้าที่จะผ่าน "โครงการแลนด์บริดจ์" ฝั่งระนอง รวมประมาณ 19.4 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 13.8 ล้านทีอียู ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ฝั่งระนอง ประมาณ 13.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 12.2 ล้านทีอียู

2.สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย ฝั่งระนอง ประมาณ 4.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 1.4 ล้านทีอียู

3. สินค้าจีนตอนใต้และ GMS ฝั่งระนอง ประมาณ 1.2 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 0.2 ล้านทีอียู

กล่าวว่า แลนด์บริดจ์ จะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมบริการ ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง

นายปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามักมีคำถามถึงการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร คำตอบคือ ต้องการให้เป็นประตูการค้า การนำเข้าส่งออกของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการรองรับสินค้าเส้นทาง จากจีน ลาว อินเดีย ไปยังยุโรป หรือสินค้าจากยุโรป มายังภูมิภาคอาเซียน

ที่สำคัญแลนด์บริดจ์ไม่ได้ทำเพื่อแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์ ที่มีเส้นทางรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ แต่ "แลนด์บริดจ์" จะเสริมการขนส่ง ที่ปัจจุบันปริมาณเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการค้าขาย ขณะที่ช่องแคบมะละกามีขีดจำกัดในการรองรับ ทำให้เรือต้องเสียเวลารอ “แลนด์บริดจ์” จะช่วยย่นระยะทาง ลดระยะเวลา และเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (จ.ชุมพร) และฝั่งอันดามัน (จ.ระนอง) รองรับตู้สินค้าและใช้มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ

นอกจากนี้ การพัฒนาแลนด์บริดจ์ จะเป็นส่วนเสริมศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่ EEC อีกด้วย โดย สนข.ได้นำต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการ EEC โดยอยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ.SEC) และแนวทางการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อไป

อย่างไรก็ตามเนื่องจากแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างจากการลงทุนทั่วไป จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะ ในเบื้องต้น รูปแบบท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ จะรวมการลงทุนเป็นแพกเกจเดียวกัน ให้เอกชนลงทุน 100% โดยเป็นเอกชนต่างชาติร่วมกับเอกชนไทย เข้ามาก่อสร้าง และพัฒนาท่าเรือ รวมถึงบริหารท่าเรือ ทำการตลาดหาลูกค้า โดบประเมินระยะเวลาสัมปทานไว้ที่ 50 ปี โดยนักลงทุนเป้าหมายคือ กลุ่มสายเดินเรือขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าในมือ ผู้บริหารท่าเรือที่มีความเชี่ยวชาญ และนักลงทุนอื่นๆ โดยจะรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าต้องการให้รัฐสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องใดบ้าง ต่อจากนั้นจะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ (RoadShow)โดยเป้าหมายจะเป็นสายเรือขนาดใหญ่ระดับโลก ได้แก่ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอังกฤษเป็นต้น

ท้ายสุดก็ต้องติดตามดูผลที่ประเทศไทยจะได้รับไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การพัฒนาพื้นที่หลังท่า การเกิดนิคมอุตสาหกรรม กระจายรายได้และเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจะมากมายมหาศาลตามเป้าหมายและที่มุ่งหวังหรือไม่

หมายเหตุ: ติดตามตอนที่ 3 ย้อนดู “คลองไทย” หรือ “คอคอดกระ” ว่าท้ายสุดจะจบอย่างไร.