Travel Sport & Soft Power
ชวนท่องเที่ยวสวนกระบองเพชร'วันยังขำ' สุดทึ่ง!สร้างรายได้เดือนละแสน
ศรีสะเกษ-ดร.กัลยาณี ชวนเที่ยวสวนกระบองเพชร “วันยังขำ” สุดทึ่งสร้างรายได้เดือนละแสน สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 38 ไร่ แบ่งเป็นปลูกผลไม้ ประกอบด้วย ทุเรียนภูเขาไฟ มังคุด เงาะ ลำไย และผลไม้อื่นๆ ประมาณ 32 ไร่ และที่เหลือปลูกกระบองเพชร ประมาณ 6 ไร่
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมสวน ไร่วันยังขำ ที่บ้านมหาราช หมู่ 10 ต.จานใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ไปพบกับ นางสุภาวี นิยมวงศ์ อายุ 53 ปี เจ้าของสวนตะบองเพชร ที่ใหญ่ที่สุดใน อ.กันทรลักษ์ และ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีการปลูกต้นกระบองเพชร เพื่อจำหน่าย และส่งขายผ่านทางออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้สู่ครอบครัวเดือนละกว่า 2-3 แสนบาท โดยบางต้นปลูกเพียง 3 ปี ลำต้นสูงท่วมหัวกว่า 6 เมตร สร้างความสุดทึ่งให้กับนักท่อเที่ยวที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี
โดย นางสุภาวี นิยมวงศ์ เล่าว่า จริงๆแล้วเจ้าของไร่ ชื่อ วัน เป็นแม่ของสามี ตนเป็นลูกสะใภ้ของบ้านนี้ ตอนแรกไม่รู้จะตั้งชื่อสวนว่าอะไรดี จึงใช้ชื่อของย่า ตอนที่ย่ายังมีความสุข และมีเสียงหัวเราะ จึงคิดใช้ชื่อสวนว่า วันยังขำ คือ วัน ก็คือชื่อย่า ยังขำ คือเสียงหัวเราะมีความสุข เพราะย่าจะเป็นคนอารมณ์ดี ตอนแรกไม่ได้มีเป้าหมายจะปลูกกระบองเพชรเยอะขนาดนี้ เพราะตนจะเน้นปลูกผลไม้ คือ ทุเรียนภูเขาไฟ มังคุด เงาะ ลำไย เหมือนสวนทั่วไป แต่ว่าก่อนที่ เงาะ ลำไย ผลไม้ จะได้ผล มันก็มีช่องว่างในร่องสวนผลไม้ จึงได้มีแนวคิดนำกระบองเพชร มาปลูกแซมพื้นที่ว่าง เริ่มจากเพียงไม่กี่ต้น ก็เริ่มขยายตามช่องว่าง จนเติบโตสวยงาม แล้วเกิดความหลงไหล ในความสวยงาม และรู้สึกชอบ จนกลายเป็นสวนขนาดใหญ่ จากงานอดิเรก ปลูกเล่นๆ จนกลายเป็นธุรกิจ
สำหรับสวนดังกล่าวมีเนื้อที่ทั้งหมด 38 ไร่ แบ่งเป็นปลูกผลไม้ ประกอบด้วย ทุเรียนภูเขาไฟ มังคุด เงาะ ลำไย และผลไม้อื่นๆ ประมาณ 32 ไร่ และที่เหลือปลูกกระบองเพชร ประมาณ 6 ไร่ โดยพันธุ์ที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ จามาคารู หนามกุด ซึ่งเดิมทีเป็นพันธุ์มาจากแถบอเมริกาใต้ แต่ตนซื้อในประเทศไทย การที่ตนเลือกปลูกต้นกระบองเพชรดังกล่าวงนี้ ครั้งแรกเมื่อปี 2563 เพื่อปลูกไว้เชยชมตามความชอบส่วนตัว เพราะตนเห็นแล้วมีความสุข แต่ก็มีเพื่อนๆที่ชื่นชอบด้วยมาขอแบ่งซื้อไปปลูก จึงเป็นที่มาของการเริ่มมีแนวคิดตัดแบ่งขายเพื่อนำไปปลูกเพาะพันธุ์ขยายผลต่อ โดยการไลฟ์สดส่งขายออนไลน์ทุกวัน ทั่วทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ประเทศเมียนมา มาเลเซีย ลาว และประเทศในอาเซียน โดยตัดแบ่งขายราคาเฉลี่ยความยาวนิ้วละ 10 บาท หรือเมตรละ 800 บาท นอกจากนี้ยังได้บรรจุดินภูเขาไฟคัดพิเศษใส่กระกอบแบ่งขาย บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 150-180 บาท เพื่อนำไปปลูกพืชต่างๆอีกด้วย สร้างรายได้ต่อวันเฉลี่ยวันละประมาณ 1 หมื่นบาท หรือเดือนละประมาณ 2-3 แสนบาท
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเยี่ยมชมสวนอยู่อย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ จะมีนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ เบื้องต้นตนไม่ได้เก็บค่าเข้าชมสวนแต่อย่างใด สามารถเข้ามาเที่ยวชมสวนได้ฟรีทุกวัน สำหรับไร่วันยังขำ แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านมหาราช ต.จานใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หากท่านใดที่ผ่านมาแถว อ.กันทรลักษ์ หรือว่ามา จ.ศรีสะเกษ ทางสวนยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะมาเที่ยวชมหรือเลือกซื้อ กระบองเพชร จามาคารู หนามกุด ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปจัดสวน และยังเป็นผลไม้ที่สามารถออกผลรับประทานได้ ซึ่งให้รสชาติหวานหอม คล้ายแก้วมังกร จะออกผลในช่วงเดือน พ.ค. – พ.ย. เท่านั้น
ด้าน ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สวนนี้ถือว่ามีความแปลกใหม่เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นและใหญ่ที่สุดที่มีการปลูกต้นกระบองเพชรได้มากและสวยงามยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ไม่คิดเลยว่าต้นกระบองเพชรจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ได้มากขนาดนี้ คนที่จะมาชมสวนนี้อาจจะมาท่องเที่ยวและเลือกซื้อกระบองเพชรกลับไปเป็นของที่ระลึก หรือนำไปปลูกเพาะพันธุ์ขยายผลขายต่อ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้
นอกจากจะได้มาท่องเที่ยวและศึกษาวิธีการปลูกแล้ว ยังจะสามารถได้อาชีพใหม่ เพื่อเสริมรายได้ประจำได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตดี ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากพอสมควร นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบรายได้ ระหว่างสวนทุเรียนภูเขาไฟ กับรายได้จากการจำหน่ายกระบองเพชร พบว่ามีรายได้ใกล้เคียงกัน ดังนั้นนอกจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมสวนถ่ายรูปเชลฟี่แล้ว ยังถือว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการศึกษาเรียนรู้ได้อีกด้วย จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามและเลือกซื้อผลผลิตของเกษตรกรจากสวนได้ทุกวัน.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน