In News
ดัชนีราคาก่อสร้างบ้านมาตรฐานQ4/66 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย0.2%เมื่อเทียบกับQ3/66
กรุงเทพฯ-รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 4 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 4 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งแสดงว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวขึ้น แต่เป็นการปรับตัวขึ้นไม่มาก
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นนั้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง ลดลงร้อยละ -2.8 และ หมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
หมวดราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลงมี 4 รายการ ได้แก่ สุขภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสุขภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุดถึงประมาณร้อยละ -10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นผลมาจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายสต๊อกสินค้าในช่วงปลายปี และรองลงมาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงร้อยละ -9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศจีนส่งออกสินค้าเหล็กจำนวนมากไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เนื่องจากประเทศจีนเกิดปัญหาการชะลอตัวด้านอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้สูงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น แต่โรงงานเหล็กในประเทศจีนยังมีการผลิตสูงขึ้นต่ออย่างเนื่อง จึงเริ่มมีการระบายสินค้าจากจีนมายังตลาดโลกเป็นปริมาณสูงมากต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 และเข้ามาสร้างโกดังกระจายสินค้าโดยตรงในพื้นที่ EEC ของประเทศไทย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือดส่งผลให้ราคาเหล็กโดยรวมในประเทศไทยปรับตัวลดลง
เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่า
1. หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
- งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 27.2 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
- งานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 66.5 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
- งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
- งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ (ดูตารางที่ 1)
2. หมวดวัสดุก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.3 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน
- ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 28.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้นร้อย 0.02 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 7.0 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลงร้อยละ -9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ลดลงขึ้นร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 5.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- สุขภัณฑ์ ราคาลดลงร้อยละ -10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.1 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
- วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ลดลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 40.9 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง (ดูตารางที่ 2)
3. หมวดแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.7 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
วิธีการจัดทำข้อมูล
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดทำดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน เป็นประจำทุกไตรมาส โดยใช้ราคาปี 2553 เป็นปีฐาน
ในการจัดทำดัชนีนี้ จะใช้แบบบ้าน “ครอบครัวไทยเป็นสุข 5” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นตัวแบบในการคำนวณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งแบบบ้านดังกล่าว เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร โดยใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน ราคาค่าก่อสร้างบ้าน จะนับรวมค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการถมดิน และปรับหน้าดินหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบสุขาภิบาลงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารและงานอื่น ๆ
ส่วนหมวดวัสดุก่อสร้าง จะใช้ข้อมูลราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างในกรุงเทพฯ ของกระทรวงพาณิชย์ และหมวดแรงงาน จะใช้ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานในการจัดทำดัชนี
ข้อควรระวังในการใช้ข้อมูล
ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน จัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านที่ประชาชนจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างคราวละ 1 หลัง แต่ไม่สามารถใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านจัดสรรที่สร้างโดยผู้ประกอบการซึ่งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างคราวละหลายๆ หลังได้