In News
ภารกิจนายกฯกับการต้อนรับปธน.เยอรมนี ถก'หุ้นส่วนยุทธศาสตร์'เอกชนเชื่อมั่นไทย
กรุงเทพฯ-ประมวลภารกิจนายกฯต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีเยอรมนีฯอย่างเป็นทางการ และได้หารือ เดินหน้าความสัมพันธ์สู่ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ผลักดันความร่วมมือ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หลังจากนั้นนายกฯ แถลงข่าวร่วมประธานาธิบดีเยอรมนี เปิดศักราชใหม่สู่เป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกัน ก่อนนายกฯ เยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการมีนาคมนี้ และก่อนเที่ยงนายกฯ หารือ ผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีซึ่งเดินทางมาพร้อมประธานาธิบดีเยอรมนี เอกชนเชื่อมั่นพร้อมต่อยอดการลงทุนในไทย มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน
วันนี้ (วันที่ 25 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
โดยผู้นำไทยและเยอรมนีได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีเยอรมนีฯ และภริยา ไปยังห้องสีม่วง เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี แล้วจึงเชิญประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และทั้งสองฝ่ายร่วมหารือกลุ่มเล็ก ณ ห้องสีงาช้างด้านใน โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเยือนไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนี ในรอบ 22 ปี เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือแนวทางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ต่อไป
ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้ต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนไทยครั้งนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับทั้งสอง ในการหารือแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างกันที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนเยอรมนีให้ความสนใจ ด้วยเสถียรภาพทางการเมือง และการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ต้องการมีความร่วมมือกับไทยมากขึ้นในด้านแรงงาน โดยจะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ เห็นพ้องกันว่า ไทยและเยอรมนียังมีศักยภาพเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเยอรมนีลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจขยายการลงทุนเพิ่ม โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการ Landbridge เพื่อสร้างโอกาส ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งของภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยพร้อมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญร่วมกับเยอรมนี โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
ด้านภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีความร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิดในด้านพลังงานสะอาด และยินดีที่ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวเช่นกัน และพร้อมมีความร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด
ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือในระดับประชาชนที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเป็นกลุ่มที่เดินทางมานักท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเยอรมนีเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น
ความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป (EU) นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนการค้าทวิภาคีระหว่างกัน พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุปทานระหว่างภาคเอกชนทั้งสองประเทศ เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำจุดยืนของไทยในการเป็นกลาง และสนับสนุนการหาทางออกในความขัดแย้งร่วมกันโดยสันติวิธี
นายกฯ แถลงข่าวร่วมประธานาธิบดีเยอรมนี เปิดศักราชใหม่สู่เป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกัน
เมื่อเวลา 11.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนีในรอบ 22 ปี ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดใน EU ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)
โดยในการหารือทั้งสองได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
การเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย โดยในระหว่างการพบกับภาคเอกชน นายกฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Landbridge โครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย Ease of Doing Business และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยภาคเอกชนแสดงความสนใจในด้านงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ซึ่งไทยพร้อมพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป
ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย โดยไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2566 กว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย
โดยในเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังมีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจะไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้มในวันพรุ่งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นโอกาสเปิดศักราชความสัมพันธ์และความร่วมมือ นำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิด เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในทุกมิติอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในห้วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป
นายกฯ หารือ ผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ยันเอกชนเชื่อมั่นพร้อมต่อยอดการลงทุนในไทย
วันนี้ (25 มกราคม 2567) เวลา 11.05 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1) สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3) พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4) บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5) วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งแกร่งระหว่างสองประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับเยอรมนีอย่างยาวนานนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1862 โดยเชื่อมั่นว่าไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศด้านการค้าการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นพันธมิตรที่ดีสำหรับเยอรมนี ซึ่งเชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบกับตัวแทนภาคเอกชนเยอรมนีทุกท่านในวันนี้ ซึ่ง มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวสรุปข้อหารือที่ได้จากคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมัน โดยได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1) การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด 2) การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย 3) การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม 4) การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV 5) การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป และ 6) ด้านการเจรจา FTA เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่น ๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เน้นนโยบายหลักหลายประการ ทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว ขณะเดียวกันรัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาระบบรางรถไฟ โครงการ Landbridge นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสะดวกในการทำธุรกิจสำหรับภาคเอกชนต่างชาติในไทย ซึ่งไทยเปิดรับการทำธุรกิจได้อย่างอิสระ มาตรการจูงใจทางภาษี รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเยอรมนีถือเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมจะยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนทั้งจากไทยและเยอรมัน โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเดือนมีนาคม 2567 นี้ เพื่อพบปะกับบริษัทของเยอรมนี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของเยอรมนี
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยพร้อมบูรณาการความร่วมมือ อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการขยายการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งศักยภาพและเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ชี้ชัดและมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลยินดีพิจารณาทุกข้อเสนอแนะและจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป