In News
นายกฯหารือเอกอัครราชทูตอิตาลีคนใหม่ เดินหน้าสานต่อความร่วมมือในทุกมิติ
กรุงเทพฯ-นายกฯ หารือเอกอัครราชทูตอิตาลี ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ เดินหน้าสานต่อความร่วมมือในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (26 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯ ทักทายและยินดีที่ได้พบ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี และต่างเห็นพ้องว่า ต่างฝ่ายมีซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่เข้มแข็ง อาทิ อาหารของไทย และการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของอิตาลี (Design and Creativity) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพ และสามารถร่วมมือกันได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังที่จะได้นำคณะไปเยือนอิตาลีในอนาคตอันใกล้ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือ รวมถึงด้านการค้าและการลงทุนให้ใกล้ชิดและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า อิตาลีถือเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตรในยุโรป และเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ใหญ่ในยุโรป และกำลังต้องการแรงงานเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ที่เห็นว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะ และขยันตั้งใจ (hard worker) ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมร่วมมือกับอิตาลี โดยความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอย่างมาก
นอกจากนี้ อิตาลีให้ความสนใจลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อย่างมาก ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาเอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นผู้นำคณะผู้แทน EEC ของไทยไปยังกรุงโรม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางอิตาลี ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมเดินหน้าเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้โดยเร็ว นอกจากนี้ ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า ภาคเอกชนอิตาลีให้ความสนใจและอยากรับทราบข้อมูลโครงการ Landbridge ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อศักยภาพและโอกาสในการลงทุนของภาคเอกชนต่อโครงการนี้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอการสนับสนุนจากอิตาลี เรื่องการขอยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในการเดินทางเข้าเขตเชงเกน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีและชาวไทยต่างเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีของกัน ไทยจึงหวังที่จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากอิตาลีมายังประเทศไทยมากขึ้น