In News

รพ.อุดรฯฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง816โดส



อุดรธานี- รพ.อุดรธานี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอีก 816 โดส

วันที่27 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น .ผู้สื่อข่าวรายงาน  ที่โรงพยาบาลอุดรธานี  ได้ทำการฉีดวัคซีน SINOVAC ป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. เข็มที่ 2 จำนวน 122 ราย พร้อมฉีดวัคซีน SINOVAC เข็ม 1 บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทีมสอบสวนโรค ส่วนราชการที่เป็นด่านหน้า ตำรวจ นักข่าวด่านหน้า กาชาด คลินิกเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกรักษาโรค โดยแพทย์แผนปัจจุบัน และทันตแพทย์ จำนวน 694 ราย รวมทั้งสิ้น 816 ราย หรือ 816 โดส ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่าย เริ่มจากการรับเอกสารสอบประวัติและบัตรคิว ที่โดมฝั่งตรงข้ามอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี 

จากนั้นเรียกคิวผู้มารับการฉีดครั้งละ 20 คน เพื่อให้เข้ามาตรวจอุณหภูมิร่างกายและวัดความดันที่ชั้นล่างอาคารผู้ป่วยนอก ก่อนขึ้นชั้น 7 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเข้าฉีดวัคซีน ประกอบด้วย การสอบประวัติ, รับเอกสารประกอบการฉีดวัคซีน, รับการฉีดวัคซีน เสร็จแล้วออกมาพักคอย 30 นาที เพื่อดูอาการและรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ก่อนกลับวัดความดันอีกครั้ง พร้อมรับเอกสารนัดวันมาฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564

นางสุปราณี เอี่ยมรักษา รองผู้อำนวยการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลอุดรธานี เปิดเผยว่า  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานสูงสุดในร่างกาย สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันนี้ และเข็มที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ยังต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อาทิ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่าง เป็นต้น 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดอุดรธานี มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง การระบาดอยู่ในวงจำกัด แค่ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด โดยยอดวันที่ 26 เม.ย.64  หรือเมื่อวานนี้ พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ จำนวน 8 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 154 ราย สะสม 315 ราย กลับบ้าน 34 ราย เหลือรักษาตัว 280 ราย มีรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง จำนวน 183 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลอุดรธานี 96 ราย โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร 12 ราย โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ฯ 11 ราย และศูนย์โอบอุ้มฯ สามพร้าว จำนวน 64 ราย ส่วนที่เหลือกระจายไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างอำเภอ

กฤษดา  จันทร์ดวง  ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี