EDU Research & ESG
ประชุมโฟกัสผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี66 คนสื่อทำงานหนัก10ชม./90%ไม่สูบบุหรี่
กรุงเทพฯ-เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 66 พบคนทำสื่อ 27%มีโรคประจำตัวส่วนใหญ่เป็นภูมิแพ้ตามด้วยเบาหวาน33%ไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี เกือบ10%ทำงานหนักมากกว่า10 ชั่วโมงต่อวัน สื่อ90%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ส่วนใหญ่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อยอมรับสุขภาวะสื่อไทยติดลบ อนาคตสื่อไม่แน่นอน ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.หนุนทุกฝ่ายจับมือแก้ปัญหา
วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “สถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ณ ห้องซิลเวอร์ รูม 3 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวเปิดการประชุมว่าในรอบปี 2566 ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องสื่อมวลชนประสบปัญหาด้านสุขภาพหลายกรณีและบางกรณีถึงกับเสียชีวิตในที่ทำงานอย่างเช่นพนักงานด้านการบันทึกข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของ TNNช่อง 16 เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2566 แม้จะมีการระบุว่ามาจากสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ด้านหนึ่งก็มาจากการทำงานหนักเกินไปมีเวลาพักผ่อนน้อย ซึ่งหลานสาวของผู้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าปกติเป็นคนแข็งแรงแต่มีการสูบบุหรี่และดื่มน้ำอัดลม ที่สำคัญคือทำงานสัปดาห์ละ 6 วันและกลับดึกบางวันก็กลับเช้า หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2562 ผู้สื่อข่าวหญิงชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องจากโหมทำงานล่วงเวลากว่า 159 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าโรคคาโรชิ ซิน โดรม คือการเสียชีวิตเพราะทำงานหนักมากเกินไป สสส.จึงสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชนและหวังว่าข้อมูลจากการสำรวจในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับสมาคมวิชาชีพสื่อในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป เช่น การตั้งกองทุนเพื่อดูแลสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพและความเดือดร้อนจากการทำงาน
จากนั้นนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) แถลงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2566 ว่า กิจกรรมการสำรวจสุขภาวะ ของสื่อมวลชนไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรับรู้สภาพการทำงานและปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยผ่านการตอบแบบสอบถามของสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ คำถามแรกคือเรื่องสุขภาพทั่วไปพบว่าสื่อมวลชน 73 % ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 27% มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศสูงถึง 28.6% ตามมาด้วยโรคเบาหวาน 17.2% และโรคหอบหืด 5.7% เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจปี 2565 พบว่ามีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น 5.4% สื่อมวลชน 77% มีการตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนอีก 23%ไม่ได้ตรวจโดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย รวมทั้งสุขภาพยังแข็งแรงอยู่ ส่วนคำถามที่ว่าสื่อมวลชนไทยทำงานหนักแค่ไหนส่วนใหญ่ 55.88%ทำงานวันละ 6-8 ชั่วโมงตามมาตรฐานการทำงานของวิชาชีพอื่นๆ รองลงมา33.53% ทำงานวันละ9-10 ชั่วโมง และมีสื่อมวลชน 9.41%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีเพียงแค่ 1.18%เท่านั้นที่ทำงานน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
ด้านคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 76.47% ไม่สูบบุหรี่ ส่วน14.71%ยังสูบบุหรี่และอีก 8.82% เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 พบว่าสูบบุหรี่ลดลง 2.0% เหตุผลที่ไม่สูบบุหรี่ 25.6% บอกว่าไม่คิดที่จะสูบอยู่แล้ว รองลงมา 15.9% เพราะรู้ถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ สำหรับคนที่ยังสูบบุหรี่มีถึง 64% คิดจะเลิกเพราะอยากจะมีสุขภาพดี ส่วนอีก 36% ไม่คิดที่จะเลิกสูบเพราะยังไม่เห็นผลกระทบและยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ ส่วนประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 88.82%ไม่สูบเพราะเป็นห่วงสุขภาพ รองลงมา 23.88% เพราะรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 11.18% ให้เหตุผลว่าเพราะไม่มีกลิ่นเหม็น รองลงมาคือเลิกสูบได้ง่ายและเชื่อว่าไม่ทำให้ติดบุหรี่ ด้านการดื่มแอลกอฮอล์พบว่า 52.4%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วน41.8% ไม่ดื่ม เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 พบว่าดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 10.4% เหตุผลที่ยังดื่มอยู่ส่วนใหญ่เป็นการสังสรรค์และเข้าสังคม รองลงมาคือดื่มเพื่อความสนุกสนาน ความถี่ในการดื่มส่วนใหญ่ 41.3% นานเกิน 1 เดือนดื่มครั้ง รองลงมา17.4%ดื่มเดือนละครั้ง ที่น่าสนใจคือสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ถึง74.16% ไม่คิดจะเลิกดื่ม เหตุผลหลักคือยังต้องสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ตามมาด้วยดื่มปริมาณน้อย ส่วนคนที่คิดจะเลิกดื่มส่วนใหญ่ 39.22% ให้เหตุผลว่าเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง รองลงมา 33.33% ระบุว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และยังพบด้วยว่ามีคนที่เลิกดื่มได้สำเร็จมีถึง 43.8% มาจากความตั้งใจของตนเอง รองลงมา 31.3% เลิกแล้วดีต่อสุขภาพ ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุพบว่าสื่อมวลชนที่ขับและซ้อนจักรยานยนต์สวมหมวกกันทุกครั้ง 57.40% สวมบางครั้ง 37.87% และไม่สวมเลย 4.73% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารรถยนต์พบว่า 87.57% คาดทุกครั้ง มีเพียง 12.43%เท่านั้นที่คาดบางครั้ง ด้านการพนันนั้นส่วนใหญ่ 63.5% ไม่เคยเล่นการพนัน แต่อีก36.5%เคยเล่นการพนัน เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2565 มีการเล่นการพนันลดลง 1.2 % คนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 48.28%ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 33.33%ซื้อหวยใต้ดิน
ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะกล่าวสรุปพร้อมข้อเสนอแนะว่าคงต้องมีการจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งภายในและภายนอกเพื่อแก้ปัญหาภูมิแพ้อากาศรวมทั้งรณรงค์ในเรื่องลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม พร้อมกับหาวิธีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อให้สื่อมวลชนได้ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือจะต้องลดชั่วโมงการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานหนักมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันลงให้ได้เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะตามมาอย่างที่เป็นข่าว ด้านพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องบุหรี่ต้องหาวิธีการหรือกลยุทธ์เลิกบุหรี่ที่หลากหลายรวมทั้งให้ข้อมูลถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ากับสื่อมากขึ้น ด้านการดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นโจทย์สำคัญคือสื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังดื่มอยู่ ทำอย่างไรจะมีกิจกรรมอื่นมาทดแทนการสังสรรค์ดังกล่าว ส่วนเรื่องอุบัติเหตุจะต้องเร่งรณรงค์เพิ่มการสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อนมากขึ้น เช่นเดียวกับการพนัน ส่วนใหญ่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ดังนั้นควรรณรงค์กับผู้สื่อข่าว นักจัดรายการวิทยุและพิธีกรรายการโทรทัศน์ ระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นการพนันมากขึ้น และควรเสนอข่าวหรือข้อมูลของผู้ประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบที่เกิดจากการพนันด้วย
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวถึง แนวทางการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชนไทยว่า ระบบการดูสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยโดยรวมยังไม่เคยมีและยังไม่มีหลักประกันมากนัก อย่างมากที่สุดก็แค่การดูแลในระดับพื้นฐานคือประกันสุขภาพและการประกันชีวิต เท่าที่ทราบมีคนที่ทำงานด้านสื่อมวลชนไม่น้อยไม่มีแม้แต่เบี้ยความเสี่ยง เช่น กรณีทำข่าวในสถานการณ์เสี่ยงภัยเช่นพื้นที่การชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังประสบปัญหาไม่มีการขึ้นค่าตอบแทน ปลดออกเลิกจ้างคนทำงานสื่อที่มีประสบการณ์ หลายคนต้องไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ขับรถแท็กซี่ ทำให้มีมีแรงกดดันด้านสุขภาพจิตจนเป็นที่มาของสุขภาพกาย ส่วนความพยายามของคนทำงานด้านสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอและมีความพยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนของไทยเพื่อปกป้องดูแลสื่อแต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักและยังไม่มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมเพราะสำนักข่าวต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวของตนคือสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยทั้งสุขภาวะทางด้านจิตใจและสุขภาวะทางกายล้วนแต่ติดลบ
นายธวานันทภัทร ตั๋นไชยวงค์ ปฏิคมและกรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวว่าขณะสุขภาวะของสื่อค่อนข้างแย่ ทำงานหนักก่อให้เกิดความเครียด เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของคนทำสื่อด้วยกัน ทางแก้คือการหันมาพูดคุยกันให้มากขึ้น ในอนาคตสื่อมวลชนไม่มีแบ่งแยกจำแนกประเภทสื่อแล้วเพราะทุกสื่อทำงานได้ทุกแพลตฟอร์ม ทุกคนต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิมทุกอย่างจะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดูแลสมาชิกในเรื่องการอบรมเพิ่มพูนทักษะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถึงที่สุดคงต้องย้อนกลับไปที่องค์กรสื่อต้นสังกัดว่ามีนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในการทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร จึงขอเรียกร้องให้สร้างนโยบายองค์กร เช่นจัดให้มีการตรวจสุขภาพและเพิ่มแรงจูงใจให้กับคนที่เปลี่ยนแปลงสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น ต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเพราะมีความสัมพันธ์กัน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง สื่อมวลชนต้องพบกับความท้าท้ายใหม่โดยเฉพาะเมื่อใบอนุญาตทีวีดิจิตอลหมดอายุในปี 2572 จะได้ทำงานต่อไปหรือไม่หากสถานีโทรทัศน์ สถานีข่าว หรือสำนักข่าวต่างๆ เริ่มทยอยยุติการดำเนินกิจการ หรือแปรสภาพไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบอื่น สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตคนทำสื่ออย่างแน่นอน
ด้านสื่อมวลชนร่วมเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าปัจจุบันมีสื่อมวลชนที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสื่อได้หันมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ จึงอยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อได้เข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะมีสื่อโทรทัศน์ที่ทำงานตั้งแต่ตีหนึ่งถึงเช้าเพื่อเตรียมรายการข่าวเช้าของแต่ละสถานีเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 คน ที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสมาคมวิชาชีพสื่อได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมกับเสนอให้สื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จได้หันกลับมาดูแลนักข่าวและคนทำสื่อที่ประสบความเดือดร้อนที่มีปัญหาสุขภาพด้วย โดยอาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้