Health & Beauty

รู้จักโรครองช้ำ!พังผืดส้นเท้าอักเสบรุนแรง โดย...นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์



นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลหาดใหญ่หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวถึง กลุ่มอาการปวดส้นเท้าอย่างรุนแรงในตอนเช้า โดยเฉพาะหลังจากเมื่อลุกเดินก้าวแรกๆในแต่ละวัน   บางรายอาจจะเจ็บมากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้  และอาจมีอาการปวดต่อเนื่อง ได้หลายนาที

หากท่านใดที่มีอาการตรงตามที่กล่าวมาข้างต้น แสดงว่าท่านเป็นโรค “พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ”หรือเรียกอีกชื่อที่รู้จักกันทั่วไป คือ “โรครองช้ำ”

สาเหตุของการเกิดโรค
ลักษณะโดยปกติทั่วไปของเท้า จะมีพังผืดที่บริเวณส้นเท้า โดยพังผืดนี้จะยึดตั้งแต่บริเวณส้นเท้าและแผ่กระจายตัวเพื่อยึดกับกระดูกฝ่าเท้าด้านหน้าของทุกนิ้ว ซึ่งพังผืดมีหน้าที่สำคัญในการรับแรงกระแทกในขณะที่กำลังใช้งานเท้าอยู่ พังผืดที่เท้ายังเป็นโครงสร้างที่สำคัญทำให้เกิดส่วนโค้งของอุ้งเท้าอีกด้วย

จากรูปจะแสดงให้เห็น พังผืดฝ่าเท้า โดยจุดเกาะของพังผืดจะเริ่มต้นจากส้นเท้าและแผ่ขยายไปยังด้านหน้าของทุกนิ้ว ทำหน้าที่ในการรับแรงกระแทกเวลาเดินลงน้ำหนัก


จากรูปแสดงให้เห็น พังผืดเท้า ที่ทำหน้าที่ในการ ขึงกระดูกฝ่าเท้า ทำให้เกิดส่วนโค้งของอุ้งเท้า ในผู้ป่วยโรคนี้ จะเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของพังผืด, เกิดภาวะบวมน้ำหรือฟกช้ำ ในจุดที่พังผืดเกาะ และอาจลามไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายหากเป็นมานาน อาจทำให้พังผืดดังกล่าวมีการฉีกขาดบางส่วนซึ่งจะทำให้การรักษายาก และซับซ้อนมากขึ้น

โรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ หรือ โรครองช้ำ มักเกิดในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40 – 60 ปี ดังนี้
1.กลุ่มอาชีพ ที่มีความจำเป็นต้องเดิน ยืน เป็นเวลานาน เช่น พนักงานขาย, นักกีฬา, คุณครู เป็นต้น
2.กลุ่มคนที่น้ำหนักตัวเยอะ หรือหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจาก มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ส้นเท้ามากขึ้น
3.กลุ่มคนที่สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นรองเท้า แข็งหรือบางจนเกินไป, รองเท้า Safety, รองเท้าส้นสูง, รองเท้าที่คับจนเกินไป หรือ คนที่เดินเท้าเปล่าเป็นประจำ

4.มีภาวะผิดปกติของฝ่าเท้า เช่น มีภาวะอุ้งฝ่าเท้าโก่งนูนกว่าปกติ (High arch of foot), มีภาวะเท้าแบน แปออกด้านข้าง( Flat feet )

อ้างอิงรูปภาพจาก : icfoot.com  รูปฝั่งซ้ายแสดง อุ้งฝ่าเท้าโก่งโค้งนูนกว่าปกติ ( High arch of foot ) รูปฝั่งขวาแสดง อุ้งฝ่าเท้าแบนกว่าปกติ หรือโรคเท้าแป ( Flat feet ) 
5.ในผู้สูงอายุบางท่านที่มี ความเสื่อมสภาพของพังผืดฝ่าเท้า ตามอายุที่มากขึ้น
6.กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรค ดังต่อไปนี้ โรคเบาหวาน, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเก๊าท์
อาการของโรค
-    มีอาการปวดส้นเท้าอย่างรุนแรง เหมือนมีมีดปักอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเดินก้าวแรกหลังจากลงจากเตียงนอน หรือมีอาการหลังจากใช้งานหนัก ยืน เดิน ออกกำลังกายอย่างหนัก อาการปวดเหล่านี้จะเบาลงเมื่อได้เดินหรือเคลื่อนไหว ต่อเนื่องประมาณ 10 – 15 นาที
-    กดเจ็บที่บริเวณส้นเท้า  , ฝ่าเท้าด้านใน , บริเวณเอ็นร้อยหวายส่วนล่าง หรือตลอดแนวของฝ่าเท้า
-    ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ
-    อาจจะมีการตรวจพบ อาการบวมบริเวณส้นเท้า
-    มีอาการปวด เป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งาน

ขั้นตอนการรักษา
-    หลีกเลี่ยงการใช้งานหนักทุกชนิด โดยลดระยะเวลาการเดิน ยืน และลดการทำกิจกรรมที่อาจจะมีส่วนทำให้อาการกำเริบ
-    ลดน้ำหนักตัว 
-    สำหรับผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใส่รองเท้าส้นปกติซักระยะหนึ่ง หรือจนกว่าอาการจะเบาลง
-    การเลือกรองเท้า ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมไม่ควรเสริมส้น หรืออาจเสริมได้เพียงเล็กน้อย และตรงบริเวณส้นเท้าควรมีลักษณะที่ หนา นุ่ม รับแรงกระแทกได้ดี เช่น รองเท้ากีฬา สำหรับวิ่ง เป็นต้น และหมั่นตรวจเช็ค สภาพรองเท้าที่สวมใส่อยู่เสมอ
-    หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า
-    ก่อนลุกจากเตียงนอน หรือ ก่อนออกกำลังกาย แนะนำให้เคลื่อนไหว โดยการยืดข้อเท้า นิ้วเท้า เอ็นร้อยหวายประมาณ 3 – 5 นาที เป็นประจำเหมือนเป็นการบริหารเท้าก่อนเดิน และหลังจากใช้งานหรือออกกำลังกาย ควรจะมีการยืดอีกครั้ง
-    ในกรณีที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลันโดยเฉพาะหลังจากใช้งานหนัก ให้รีบทำการประคบเย็น และยกเท้า ห้ามใช้ความร้อนในการประคบช่วงอักเสบเฉียบพลันโดยเด็ดขาด เพราะความร้อนจะทำให้มีการอักเสบเพิ่มขึ้น
-    ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน แนะนำให้ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ จะทำให้อาการเบาลง

หากปฏิบัติตัว ตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่อาการที่เป็นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปตรวจรักษากับแพทย์กระดูกและข้อ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพิ่มเติม ซึ่งจะมีขั้นตอนการรักษา ดังต่อไปนี้
1.การทานยาแก้ปวด พาราเซ็ตตามอล, ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ [NSAIDs], ยาคลายกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะให้ทานยา อยู่ช่วงระยะหนึ่ง โดยจะพิจารณา ตามความรุนแรงของอาการอักเสบของผู้ป่วยแต่ละราย
2.การฉีดยาสเตียรอยด์ [Steroid] เฉพาะจุด เพื่อหวังผลให้มีการลดอาการอักเสบในบริเวณส้นเท้าได้โดยตรง ซี่งเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์การฉีดยาจะเห็นผลแก้ปวดได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะการฉีดยากลุ่มนี้บ่อยๆ อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและอาจทำให้พังผืดตามธรรมชาติ รวมถึงเนื้อเยื่อโดยรอบ บางตัวลงหรืออาจมีการฉีกขาดของพังผืดเกิดขึ้นได้ เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะทำให้อาการปวดส้นเท้ากลับมาได้อีก หรืออาจปวดมากกว่าเดิม ซึ่งวิธีนี้ควรจะเลือกใช้ในการรักษาเป็นวิธีสุดท้าย และการฉีดควรเว้นช่วงระยะของการฉีด ครั้งละ 6 – 8 เดือนขึ้นไป หรือฉีดเท่าที่จำเป็น 
3.การทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มการยืดหยุ่นของพังผืดฝ่าเท้า, เส้นเอ็นร้อยหวาย และกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเท้า
4.การใช้อัลตร้าซาวน์ คลื่นสั้น [Shock wave ultrasound], การทำเลเซอร์, การฉีดเกล็ดเลือดปั่น [ PRP Injection ]  จะพิจารณาเป็นรายๆไป  ไม่ได้ผลดีในทุกคน   ในบางรายอาจกระตุ้นให้มีการปวดมากกว่าเดิม ควรมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนเริ่มทำการรักษาโดยวิธีการรักษาเหล่านี้    
5.ใช้อุปกรณ์พิเศษ สวมใส่ในรองเท้าเพิ่มเติม เพื่อลดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น
- แผ่นยางลดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า [Heel Cushion]
- แผ่นพื้นเสริมความโค้งของฝ่าเท้าด้านใน [Medial Arch Support] เพื่อกระจายแรงกระแทกจากส้นเท้ามายัง ส่วนกลางของเท้าด้านใน [Medial Arch of foot]
- แผ่นเสริมลดแรงกระแทกตรงส่วนจมูกเท้า หรือส่วนด้านหน้าของฝ่าเท้า [Metatarsal Pad] เพื่อกระจายแรงกระแทกของส้นเท้า มายังฝ่าเท้าส่วนหน้า
6.การผ่าตัด วิธีนี้จะใช้ในบางกรณีเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองการรักษาในวิธีที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอุ้งเท้า โดยแพทย์ที่ทำการรักษาจะพิจารณาเป็นรายๆไป

นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์
อาจารย์แพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหาดใหญ่