In News

นายกฯปลื้มการขับเคลื่อนDDGsของไทย รายงานสหประชาชาติเป็นไปในระดับสูง



กรุงเทพฯ-นายกฯ ยินดีผลรายงานแนวโน้มความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในไทย ประจำปี 2566 ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นไปได้ในระดับสูง ยืนยันไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือขับเคลื่อน SDGs ให้เป็นรูปธรรม

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบการเผยแพร่รายงานประจำปี 2566 (Annual Results Report 2023) ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) และชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ที่ร่วมกันทำงานจนทำให้ไทยมีแนวโน้มความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs เป็นไปได้ในระดับสูง ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ใน 76 จังหวัด อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และเป็นรูปธรรม ตามการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียมและการพัฒนาที่ยั่งยืน"

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า โดยรายงานฯ ประจำปี 2566 (https://thailand.un.org/en/259712-2023-un-thailand-annual-results-report) สะท้อนให้เห็นถึงกลไกการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 76 จังหวัด เช่น สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเน้นการพัฒนาแผนการดำเนินการของ SDGs ในระดับย่อย โดยสนับสนุนให้ประชาชนในระดับครัวเรือน 14 ล้านครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนและสามารถจัดการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ส่งผลให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเทียบเท่ากับเครดิตคาร์บอนที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของการดำเนินงานดังกล่าว นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ธนาคาร และภาคเอกชนรับซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นสำหรับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและขยายผลสู่การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ใน 76 จังหวัดที่ส่งเสริมอัตราการนำขยะรีไซเคิล กลับไปใช้ใหม่ (Recycling Rate) เช่น กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม เป็นต้น 

นอกจากนี้ รายงานประจำปี 2566 ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนการทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อปรับปรุงข้อมูลของผู้ลี้ภัยและยืนยันสิทธิประชากรที่สามารถเข้าร่วมโครงการการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในอนาคตสำหรับผู้ลี้ภัยในบริเวณพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมา 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอกชนในการมอบโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้กับผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 6 แห่งในปี 2566 อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้กล่าวยกย่องพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานพระดำริ "แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion)"  ที่ส่งเสริมการใช้สีที่ย้อมจากธรรมชาติและผสมผสานการใช้ลวดลายผ้าพระราชทานกับลวดลายดั้งเดิม ให้กับช่างทอผ้าสตรีจากทั่วประเทศจำนวน 2,000,000 ราย ซึ่งเมื่อประเมินค่าปริมาณก๊าชเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (Carbon footprint) จากผลิตภัณฑ์ผืนผ้าไทยที่น้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรการผลิตลดลง ซึ่งยกระดับให้ผ้าไทยให้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถแข่งขันได้สูงขึ้นในตลาดโลก และเพิ่มรายได้ให้ช่างทอผ้าสตรี นอกจากนี้ยังทำให้คนรุ่นใหม่สามารถยอมรับการปฏิบัติที่ยั่งยืนภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของสิ่งทอหมุนเวียนที่ยั่งยืน (Sustainable and circular textile value chain) เพิ่มขึ้นใขณะเดียวกัน

“นายกรัฐมนตรีตระหนักและสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการขับเคลื่อน SDGs ในทุกมิติ ทุกพื้นที่ และทุกเวลา อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุม Action Now เพื่อยกระดับ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไทย และเพื่อต่อสู้กับความท้าทายของโลกให้ดียิ่งขึ้น” นายชัย กล่าว