Health & Beauty
'ปรมาภรณ์'ชูกลยุทธ์BDMSสู่ความยั่งยืน หลังครองอันดับ1ผู้นำในดัชนีDJSI
กรุงเทพฯ-ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ BDMS ขึ้นที่ 1 ผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ปี 2023 ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ (Health Care Providers & Services) ทั้งในระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรก และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนอันดับ 1 มิติด้านสังคม จากการประเมินของ S&P Global
แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกลยุทธ์และเป้าหมายในการขับเคลื่อน BDMS สู่ความยั่งยืนว่า ปัจจุบันบริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน “สำหรับเรื่องนี้ต้องมองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยเกณฑ์การประเมินของประเทศไทยและต่างประเทศจะอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อเหมือนกัน คือ หลักการ E S G โดยในส่วนของ BDMS เริ่มจากเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ THSI (Thailand Sustainability Investment) ก่อนเมื่อเราผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว BDMS ก็ตั้งเป้าหมายไปสู่ DJSI” แพทย์หญิงปรมาภรณ์กล่าว
จากความสำเร็จครั้งนี้ BDMS ได้ดำเนินนโยบายสู่ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ พร้อมส่งเสริมการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและต้นแบบด้านการบริการสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืน ที่ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน พร้อมสร้างเครือข่ายการพัฒนาธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี 2030
“เป็นความท้าทายที่ทั้งผู้บริหารและทีมงานในองค์กรหารือร่วมกันว่าเราพร้อมจะก้าวต่อไปแล้วหรือยัง คำตอบก็คือว่า “ต้องไป ไม่ไปไม่ได้” เมื่อพิจารณาแล้วว่าในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังไม่มีบริษัทใดเลยที่เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ Healthcare จึงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของ BDMS แต่ท้ายที่สุดเมื่อตัดสินใจที่จะทำแล้ว เราจึงขับเคลื่อนให้ทั้งองค์กรเห็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านการสื่อสารในทุกระดับ เพราะการทำความเข้าใจภายในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญ เราตั้งใจจะไม่ทำ Top down หรือเป็นคำสั่งลงมา แต่ต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในหลายมิติ ซึ่งเราได้ลงมือทำมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล และพบว่ามีบางส่วนที่เราดำเนินการอยู่แล้ว จากโรงพยาบาลทั้งหมด 50 กว่าแห่งทั่วประเทศ” แพทย์หญิงปรมาภรณ์กล่าว
นอกจากนี้แพทย์หญิงปรมาภรณ์ยังสะท้อนเจตนารมย์ของ BDMS ที่มุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรม Health Care ของไทยสามารถดำเนินแนวทางความยั่งยืนตามมาตรฐานโลกพร้อมเชิญชวนให้กลุ่มธุรกิจนี้ซึ่งล้วนมีพื้นฐานด้านความยั่งยืนกันอยู่แล้ว ร่วมพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน
“อาจจะฟังดูยาก เหมือนกับที่เราเคยคิดมาก่อน แต่เราก็ยินดีให้คำแนะนำ เราเชื่อว่าเมื่อมาทำด้วยกัน มันจะเกิดImpact ที่ดี (กับอุตสาหกรรม Health Care)”แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวต่อว่า “สำหรับเป้าหมายการบริหารงานในปี 2567 ของ BDMS เราพยายามหาเรื่องใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ตรงกับธุรกิจสุขภาพที่ยังไม่มีใครเคยทำนำมาพิจารณาเพิ่มมากขึ้น เรายืนยันว่า BDMS จะไม่ทำธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สายสุขภาพ”แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว
การสร้างเครือข่ายพัฒนาต่อยอดธุรกิจการแพทย์อย่างยั่งยืนภายใต้รูปแบบ Partnership นั้น BDMS ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การร่วมมือกับ SCG ผลิตกระถางต้นไม้รีไซเคิลที่ทำมาจากถังน้ำยาล้างไต เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคารของโรงพยาบาลในเครือ ฯ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)เป็นต้น
“ปีนี้ BDMS จะมีการเชื้อเชิญพันธมิตรเพื่อพัฒนานวัตกรรม โดยจะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจได้เข้ามา Pitching Project ของ BDMS ด้วย ที่ผ่านมาเราดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลมานานกว่า 50 ปี มีโรงพยาบาลในเครือกว่า 50 แห่ง ณ ตอนนี้เราไม่ได้มองว่า BDMS เป็นเพียง Hospital Network อย่างเดียว แต่เราเป็น Health Care Networkและมุ่งสนับสนุนสุขภาพเชิงป้องกันให้มากขึ้น”แพทย์หญิงปรมาภรณ์กล่าว
และอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของ BDMS คือ การสร้างเสถียรภาพทางเวชภัณฑ์ยา ที่ไม่จำเพาะแค่การผลิตยารักษาโรคเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วยปัจจุบัน BDMS สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้แก่ธุรกิจนอกเครือ ฯ ได้มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
“เรื่องของการเป็น Green Supply Chain คือ การสร้างอุปสงค์และอุปทานในประเทศ ที่ผ่านมาสิ่งที่เราเคยเจอในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราหาของในประเทศไทยไม่ได้ ต้องที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ยา หากเกิดวิกฤตใด ๆ ในประเทศ หรือทั่วโลกอีก ที่ส่งผลให้ไม่สามารถส่งยามาจากต่างประเทศ เราก็ควรจะมียาที่ผลิตในประเทศไทยได้ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ หรือเรียกว่าเป็น Health Care Security แต่ถ้ามองในแง่ของ Supply Chain ที่ต้องนำเข้าของมาจากที่ไกล ๆ เราต้องมีการขนส่ง (Logistics) นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราสามารถผลิตยาในประเทศเองได้ ในแง่ของเศรษฐกิจจะสามารถสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรได้เช่นกัน” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย