EDU Research & ESG
มรภ.นครปฐมร่วมมือชุมชนพระงามชุบชีวิต ตักบาตรข้าวหลาวมรดกท้องถิ่นอดีต
นครปฐม-มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ประสานความร่วมมือกับชุมชนวัดพระงาม จังหวัดนครปฐมจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีตักบาตรข้าวหลามเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่เคยเป็นวิถีของชุมชนซึ่งปัจจุบันได้สูญหายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยในปีนี้นับเป็นครั้งแรกในการสืบสานประเพณีดังกล่าวและเตรียมผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นของจังหวัดนครปฐมโดยชุมชนยืนยันจะขอจัดต่อเนื่องจากนี้ทุกปีตลอดไป
ณ วัดพระงาม พระอารามหลวงบริเวณรอบพระอุโบสถและหน้าเขาวัดพระงามสมาทานศีล 5 ศีล 8 ฟังพระธรรมเทศนามีการทำบุญตักบาตรข้าวหลามวันมาฆบูชาและฟื้นฟูการตักบาตรข้าวหลามชุมชนวัดพระงาม"ทวารวดีนครปฐมสร้างคุณค่า สร้างมูลค่าสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดพระงามพระอารามหลวง ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม ได้มีพิธีตักบาตรข้าวหลามสืบสานประเพณีโบราณของชุมชน โดยการดำเนินการของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งมีการอนุรักษ์ประเพณีพื้นที่ ในหลายชุมชน เช่น ชุมชนดอนยายหอม ชุมชนธรรมศาลา ชุมชนพระประโทณเจดีย์ชุมชนพระปฐมเจดีย์ ชุมชนวัดพระงาม และชุมชนไร่เกาะต้นสำโรง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างเครือข่าย การสร้างกระบวนการรับรู้ และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของอารยธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ศึกษา ซึ่งในพิธีนำโดย ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พร้อมด้วย ผศ.ดร ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมและนายสมพงษ์ มุดา ประธานชุมชนริมคลองวัดพระงาม พร้อมประชาชนในพื้นที่และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญของพระพุทธศาสนาโดยพร้อมเพรียง
ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เผยว่า ชุมชนวัดพระงามเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอารยธรรมทวารวดีโดยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น เศียรพระพุทธรูปดินเผ่าที่มีความงดงามที่เป็นที่มาของคำว่า "พระงาม" พบ ธรรมจักร กวางหมอบ ประติมากรรมดินเผาทวารบาล แผ่นจารึกอักษรสมัยทวารวดี หรือ ที่เรียกว่าจารึกวัดพระงาม โบราณสถานเนินพระงาม หรือ เขาวัดพระงาม และหลักฐานอื่นๆ
อีกหลายชิ้นที่บ่งชี้ได้ว่าชุมชนวัดพระงามเป็นพื้นที่สำคัญในอารยธรรมทวารวดี ในขณะเดียวกันทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในชุมชนวัดพระงามก็มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สะท้อนพัฒนาการทางสังคม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิปัญญาการเผาข้าวหลาม ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนให้เห็นจากคำขวัญของจังหวัดนครปฐมที่ว่า "ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงามข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน"
ในอดีตชุมชนวัดพระงามมีความโดดเด่นในการประกอบอาชีพทำข้าวหลามมาอย่างยาวนาน อาจเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านข้าวหลาม จากคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แกในพื้นที่กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของข้าวหลามนครปฐมในอดีตนั้นมีเพียงแห่งเดียว คือ ชุมชนบริเวณรอบวัดพระงาม สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบรรพบุรุษได้อพยพมาจากถิ่นฐานอื่น มาประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งการทำข้าวหลามอาจเป็นประเพณีที่
เคยทำกันมาตั้งแต่ถิ่นเดิม เมื่อมีการย้ายถิ่นฐานจึงนำมาทำกันสืบเนื่องภายในครัวเรือน และมีประเพณีการตักบาตรข้าวหลามนั้นผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในอดีตทำกันปีละครั้ง โดยนำข้าวหลามไปใส่บาตรพระที่มาบิณฑบาต เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับของตนในวันสงกรานต์หรือวันสำคัญทางศาสนา
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจจึงมีผู้คนภายในชุมชนหันมาประกอบอาชีพการทำข้าวหลามขายเป็นหลัก และทำข้าวหลามขายกันตลอดปี ทำให้ข้าวหลามนครปฐมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระราชอาคันตุกะ โดยเสด็จฯ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ 2503ทรงทอดพระเนตรการทำข้าวหลามทำให้ชื่อเสียงของข้าวหลามนครปฐมโด่งดังและเป็นที่นิยมของผู้คนทั่วไป และ
ด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การใส่บาตรด้วยข้าวหลามของชุมชนวัดพระงามก็เลือนหายไปจากชุมชน
จากร่องรอยประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนวัดพระงามที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และภาคีเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน วัด และโรงเรียนในชุมชนวัดพระงามเล็งเห็นความสำคัญของประเพณีการตักบาตรข้าวหลามที่เคยมีมาแต่ในอดีตและเห็นว่าควรนำรองการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีการตักบาตรข้าวหลามขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในชุมชน คนในจังหวัดนครปฐมนำข้าวหลามมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญตักบาตร ให้กลายเป็นกระแสซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่า
ทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม อีกทั้งให้เกิดการเรียนรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรในชุมชน และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครปฐมที่สอดคล้องกับคำขวัญประจำจังหวัด "ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงามข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีนอีกด้วย
นายสมพงษ์ มุดา ประธานชุมชนริมคลองวัดพระงาม เผยว่า ชุมชนวัดพระงามมีตลาดถนนคนเดินศรีธาตุวดี หรือที่เรียกว่าตลาด ถนนคนเดิน ซึ่งอยู่คู่ชุมชนจังหวัดนครปฐมมาอย่างยาวคู่กับวัดพระงาม ตามหลัก บวร ซึ่งประวัติศสตร์ของวัดพระงามมีโบสถ์ที่มีอายุนับร้อยปี ซึ่งชุมชนได้ตระหนักถึงความมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งข้าวหลามในชุมชนพระงาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ได้เคยเสวย จึงได้ชื่อว่า ข้ามหลามเสวย เป็นที่มา ซึ่งการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมนี้มีสืบมาทอดกันมาอย่างยาวนานและผมยืนยันว่าจะมีการจัดให้เป็นประเพณีท้องถิ่นเช่นนี้ทุกปีต่อไปแน่นอน