H&B News

.นิ้วล็อค' ยืดนิ้วไม่ได้และมีอาการเจ็บมาก โดย...นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์



นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่าวถึง อาการ “นิ้วล็อค” เป็นหนึ่งในอาการที่พบเจอเป็นประจำ ในการตรวจรักษาโรคทางกระดูกและข้อ สามารถเจอได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้งานนิ้วมือเป็นประจำหรือมีการใช้งานมือซ้ำๆ

และในปัจจุบันตรวจพบมากขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยและวัยทำงานจากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

อาการของโรค

ตรวจพบได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1.อาการเริ่มแรก อาการจะมีอาการปวดตึง หรือรู้สึกไม่สบายนิ้วมือ ขณะใช้งาน โดยเฉพาะบริเวณโคนนิ้วมือของแต่ละนิ้ว โดยส่วนใหญ่จะมีอาการตามลักษณะและปริมาณการใช้งาน เช่น นักเขียนมักจะปวดนิ้วโป้งและนิ้วชี้, แม่บ้านที่ใช้งานมือในการบิดผ้าเยอะ มักตรวจพบ นิ้วชี้และนิ้วกลางในบางคนอาจมีอาการปวดร้าว วิ่งจากโคนนิ้วขึ้นมาตลอดแนวแขน บางรายที่มีอาการมาระยะเวลาหนึ่งอาจตรวจพบปุ่มนูนลักษณะคล้ายก้อนนูนแข็ง

2.กลุ่มที่อาการเรื้อรังอาจตรวจพบภาวะ “นิ้วล็อคค้าง” และปวดมากในบางรายอาจต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยในการง้างนิ้วออกให้คืนสู่สภาพเดิม ลักษณะอาการเหล่านี้ บ่งชี้ว่าภายในมีพังผืดหนาตัวอย่างรุนแรงและเกิดลักษณะดังกล่าว

ลักษณะพยาธิสภาพภายในข้อนิ้ว

ปกติโครงสร้างของมือ บริเวณโคนนิ้วมือ จะประกอบด้วย อวัยวะที่สำคัญ 2 อย่าง คือ 1.เส้นเอ็น [Tendon ] ของนิ้วมือซึ่งจะพาดผ่านจากนิ้วมือและ ยาวไปยังจุดเกาะต้นบริเวณแขน 2.ปลอกหุ้มเส้นเอ็น [ A1 Pully ] ซึ่งจะเกาะอยู่ตามจุดต่างๆทำหน้าที่ ช่วยขึงและปรับมุมของเส้นเอ็นนิ้วมือ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งการใช้งานมือ เมื่อมีการกำหรือแบมือ เส้นเอ็นก็จะมีการเคลื่อนไหวเสียดสีไปกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น

โรคนิ้วล็อค เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นนิ้วมือ โดยเฉพาะท่านใดที่ทำงานหนัก ใช้งานนิ้วมือมาก หรือมีการออกแรง บีบจีบอุปกรณ์ ซ้ำๆเป็นเวลานาน เมื่อเกิดการอักเสบทำให้เส้นเอ็นบวม และเมื่อมีการเคลื่อนไหว จะส่งผลทำให้มีอาการปวด หากผู้ป่วยยังคงใช้งานแบบเดิมต่อไป ก็จะทำให้เส้นเอ็นที่อักเสบอยู่บวขึ้นกว่าเดิม จนเริ่มมีการขัดกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการ “ติดขัด” เคลื่อนไหวไม่สะดวก ปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะเริ่มเปลี่ยนสภาพ หนาตั;มากขึ้น ทำให้นิ้วมือเกิดการ “ล็อคค้าง” และสุดท้ายอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเลาะปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ผิดปกติออก

 

การรักษา

มีขั้นตอนการรักษาเบื้องต้น ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงงานที่หนักใช้นิ้วมากเกินความจำเป็น หรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งาน อาทิเช่น ไม่ถือของหนักเกินไป, ไม่บิดผ้า, ลดการเขียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานาน, ปรับเปลี่ยนวิธีจับปากกา
  • ในงานที่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรมีการหยุดพัก ทุกๆ 45 – 60 นาที และทำการยืดบริหารนิ้วมือ อย่างช้าๆ นุ่มนวล
  • แช่น้ำอุ่นเป็นประจำทุกวัน ในช่วงเวลาเช้าและก่อนนอน ครั้งละประมาณ 15 – 20 นาที
  • หากรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณนิ้ว ไม่ควรบีบ ดัด ดึงที่นิ้วเพราะอาจส่งผลทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้นเอ็นอักเสบมากกว่าเดิม
  • หากวันไหนจำเป็นต้องใช้งานหนัก และมีอาการปวดทันทีหลังจากเสร็จภารกิจ และนำให้ประคบเย็นทันที่เพื่อหวังผลให้ลดอาการอักเสบในช่วงเฉียบพลัน

หากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำข้างต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจรักษากับแพทย์กระดูกและข้อใกล้บ้านท่าน โดยการรักษาทางการแพทย์ มีรายละเอียด ดังนี้

1.การใช้ยาแกปวด พาราเซ็ตตามอล, ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์[NSAIDs], ยาคลายกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ทายยากลุ่มนี้ระยะหนึ่งโดยจะพิจารณา ตามความรุนแรงของอาการอักเสบของผู้ป่วย แต่ละรายเพื่อลดอาการอักเสบ

2.การฉีดยาสเตียรอยด์ [Steroid] เฉพาะจุด เพื่อลดอาการอักเสบในบริเวณเส้นเอ็นที่บวอักเสบ และปลอกหุ้มเอ็นโดยตรง ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์ และควรเว้นระยะในการฉีด แต่ละครั้ง 3 - 6 เดือนขึ้นไป แนะนำฉีดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

3.ทำกายภาพนิ้วมือ โดยการยืด กำนิ้วมืออย่างนุ่มนวล, นวดเบาๆบริเวณเส้นเอ็นที่รู้สึกติดขัด แนะนำให้ทำกายบริการเฉพาะช่วงที่ไม่มีอาการเท่านั้น โดยหวังผลเพิ่มพิสับของข้อต่อและเส้นเอ็นนิ้วมือ

4.สุดท้ายแล้วหาก อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัด เลาะพังผืดที่หนาตัวปกคลุมบริเวณ ปลอกหุ้มเอ็น [A1 Pully] ออก เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นลื่นไหลได้ตามปกติ

โดยทั่วไปหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะพักการใช้งาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จนกว่าจะตัดไหมออก(ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นรายๆไป) หลังจากนั้นจะให้เริ่มฝึกกายภาพบริหารนิ้วมืออย่างต่อเนื่องจนสามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติ