Health & Beauty
แร่ใยหินกับโรคร้าย...ภัยคุกคามอันตราย ต่อสุขภาพและชีวิต
“แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” (asbestos) สิ่งนี้ได้ยินกันมาอย่างยาวนาน และหลายคนคงคุ้นหูอยู่ไม่น้อย เพราะกว่า 18 ปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้หยุดใช้และลดการนำเข้าแร่ใยหิน แต่ใครจะรู้ว่าปัจจุบันนี้ เรายังคงใช้ชีวิตอยู่กับแร่ใยหินอย่างใกล้ชิด เสียชีวิตไม่ต่างกับการสูบบุหรี่
เมื่อเราได้รับใยหินเข้าในร่างกายในปริมาณที่มากพอ ก็จะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมา ซึ่งความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับแอสเบสตอส จะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1. เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และ เยื่อหุ้มปอดมีสารน้ำ (pleurisy and pleural effusion) เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะแรกเริ่ม เมื่อได้รับใยหินเข้าไปในร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บเยื่อหุ้มปอด อาจมีไข้ต่ำ และหอบเหนื่อย
2. ปื้นใยหิน (pleural plaque) เกิดจากการหนาตัว ของเยื่อหุ้มปอด ที่มีขอบเขตชัดเจน อาจจะไม่ค่อยเกิดอาการอย่างชัดเจน และไม่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพปอด
3. เยื่อหุ้มปอดหนา (diffuse pleural thickening) เป็นความผิดปกติคล้ายกับปื้น เยื่อหุ้มปอด เชื่อว่าเป็นผลต่อเนื่องจากการเกิดสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก่อน ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพปอด มักพบบริเวณส่วนกลางและส่วนล่างของปอด
4. ปอดแฟบกลม (round atelectasis) หรือทบปอด (folded lung) เป็นผลต่อเนื่องจากแผ่นเยื่อหุ้มปอดหนา กว้างตลบเข้าไปรัดเนื้อปอดบางส่วนไว้ ทำให้มีลักษณะเป็นก้อนกลม
แร่ใยหินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลากหลาย โดยเฉพาะกับ “โรคปอด” ซึ่งการตรวจพบภาวะเยื่อหุ้มปอดเหล่านี้ อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า เราได้รับใยหินเข้าไปในร่างกายแล้ว และมีโอกาสกลายเป็นโรคปอดใยหิน (แอสเบสโทสิส) ต่อไปในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินในระยะเวลานาน ๆ เช่น
โรคปอดอักเสบจากใยหิน หรือ แอสเบสโตซิส (asbestosis)
โรคที่เกิดจากการสูดหายใจเอา เส้นใยหินเข้าไปในปอดเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณมากพอ จนทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดแล้วตามด้วย ภาวะปอดเนื้อพังผืด (diffuse interstitial fibrosis) โดยผู้ป่วยมักมีประวัติสัมผัสใยหินเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และส่วนใหญ่มีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกแรง ซึ่งในบางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย และในรายที่โรครุนแรงอาจจะมีอาการไอแห้ง ๆ เกิดขึ้นได้
โรคมะเร็งปอด (lung cancer)
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด คือ การสัมผัสใยหินเป็นเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งปอดทั้งในคนที่สูบและไม่สูบบุหรี่ โดยในคนที่สูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
“เนื้องอกเยื่อเลื่อม” หรือ “เมโสเธลิโอมา”
จัดเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเป็นที่เยื่อหุ้มปอด ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอก และตรวจพบสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และเยื่อหุ้มปอดหนา หรือเป็นก้อน โดยความเสี่ยงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณเส้นใยหินในอากาศแวดล้อม ร่วมกับระยะเวลาที่สัมผัสต่อเนื่อง
บทบาทของ WHO กับโรคมะเร็งปอดจากแร่ใยหิน
ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกไม่เคยนิ่งนอนใจกับภัยร้ายจากแร่ใยหิน ที่คุกคามชีวิตมนุษย์ไปหลายแสนชีวิต โดย IARC (International Agency for Research on Cancer) หน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เข้ามามีบทบาทในการประเมินสารเคมีหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งได้ระบุใน IARC monograph 100C เอาไว้ว่า “แร่ใยหินทุกชนิดรวมถึง Chrysotile เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนจากการวิจัยในมนุษย์ว่าก่อให้เกิดมะเร็ง โดยมีอย่างน้อย 2 งานวิจัยที่ทำการศึกษาเฉพาะแร่ใยหิน Chrysotile กับมะเร็งในคน และพบว่าแร่ใยหิน Chrysotile มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในคน”
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุใน World Health Assembly resolution 60.26 ให้ดำเนินการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อกำจัดโรคจากแร่ใยหิน โดยมีกลยุทธ์การดำเนินการ คือ
1) การยุติการใช้ใยหินทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
2) ดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหิน
3) ดำเนินการใช้มาตรการป้องกันการรับสัมผัสแร่ใยหินระหว่างการผลิต การใช้ และการรื้อถอน
4) พัฒนาการคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูทางการแพทย์และทางสังคมสำหรับโรคจากแร่ใยหิน และจัดทำทะเบียนคนที่รับสัมผัสแร่ใยหินทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ดังนั้นทั่วโลกจึงมีความเห็นว่า การห้ามใช้แร่ใยหินทุกประเภท เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คนได้รับสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ใยหินในอนาคต จึงรณรงค์การยกเลิกการใช้แร่ใยหินดังกล่าวในที่สุด