In News

เกาะติดนายกฯดูปัญหาน้ำ2จ.ภาคอีสาน บุกร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ดูระบบน้ำรับฤดูแล้ง



ร้อยเอ็ด-นายกฯ ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง จ.ร้อยเอ็ด ย้ำการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้รับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกาฬสินธุ์-นายกฯ ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว จ.กาฬสินธุ์ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานบูรณาการ ยืนยันรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาลำน้ำชีอย่างเต็มที่ ให้ชาวกาฬสินธุ์ไม่ต้องประสบอุทกภัย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อนนี้นายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ณ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ย้ำให้เร่งกำจัดวัชพืช-ขุดลอกคูคลองรองรับก่อนฤดูน้ำจะมาถึง ยืนยันจะกลับมากาฬสินธุ์อีกครั้งปีหน้า

วันนี้ (2 มีนาคม 2567) เวลา 09.45 น. ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมคณะด้วย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟัง One Map สรุปสถานการณ์น้ำ (เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์) จากนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน รวมทั้งรับฟัง แผนพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง - อุทกภัย 1) โครงการสถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย พร้อมระบบส่งน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด งบฯ 700 ล้านบาท พื้นที่ชลประทาน 32,000 ไร่  2) โครงการแก้มลิงหนองหิน งบฯ 30 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 800 ไร่ 3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ งบฯ 360 ล้านบาท พื้นที่บรรเทาอุทกภัย 180,000 ไร่ และ 4) โครงการพนังกั้นน้ำชีฝั่งซ้าย กม.0+000 -18+000 พร้อมอาคาร งบฯ 270 ล้านบาท พื้นที่ป้องกันอุทกภัย 15,000 ไร่

ภายหลังการรับฟังรายงาน นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงความพร้อมของแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อประชาชนหรือไม่ เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเข้าสู่ฤดูแล้ง จะต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตีย้ำว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก อาจจะดีหรือร้าย สิ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการ ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้รับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดร้อยเอ็ดเสนอมานั้นจะให้คณะทำงานเก็บข้อมูล และนำไปพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบปะทักทายประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมกล่าวขอบคุณชาวร้อยเอ็ดที่ให้กำลังใจในการทำงานและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อีกทั้งได้ร่วมถ่ายภาพกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 

นายกฯถึงกาฬสินธุ์รุดดูพนังกั้นน้ำชีทรุด  ก่อนลงพื้นที่ติดตามปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

วันนี้ (2 มีนาคม 2567) เวลา 11.45 น. ณ บริเวณพนังกั้นลำน้ำชีชั่วคราว กม.ที่ 2+300 บ้านโนนแดง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว โดยมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมคณะด้วย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานสภาพปัญหาพนังกั้นน้ำชี กม. 6+400 เป็นช่วงคุ้งน้ำของลำน้ำชี โดยช่วงฤดูน้ำหลากจะได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำค่อนข้างรุนแรง ด้วยโครงสร้างเดิมไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับกระแสน้ำที่ไหลมากระทบบริเวณคุ้งน้ำ เมื่อเข้าฤดูแล้งระดับน้ำชีจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มวลดินขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้ผนังกั้นน้ำดังกล่าวทรุดตัวลงและส่งผลให้ผิวจราจรเกิดความเสียหายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งนายกฯ รับฟังข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เพื่อซ่อมแซมพนังกั้นน้ำชี กม. 6+400 และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำชี เพื่อป้องกันคันทาง (พนังแม่น้ำชี) พังทลายจากกระแสน้ำชีกัดเซาะคันทาง

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงโครงการที่จะซ่อมแซมตลิ่งริมลำน้ำชี ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว หากแก้ไขแล้วสามารถป้องกันได้ในระยะยาวบรรเทาความเดือดร้อน ลดการสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน นับเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานแบบบูรณาการ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้ดี เก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละปีมาคาดการณ์ความเป็นไปได้ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ โดยการมาลงพื้นที่วันนี้ตนจะนำปัญหาที่ได้รับฟังไปพิจารณาหาทางแก้ไขผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชาวกาฬสินธุ์ไม่ต้องประสบกับอุทกภัย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งขอยืนยันว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาลำน้ำชีอย่างเต็มที่

นายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ณ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน อ.กมลาไสย 

วันนี้ (2 มีนาคม 2567) เวลา 10.45 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ณ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมพบปะประชาชน โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมการตรวจเยี่ยม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกฯ ได้รับฟังแนวทางการแก้ปัญหาและการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำกุดแคน เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาตื้นเขินและมีวัชพืชปกคลุม ส่งผลให้ในช่วงฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงการกีดขวางทางน้ำ น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน จึงขอรับการสนับสนุน (การแก้ไขปัญหาอุปสรรค/การพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน) จากรัฐบาล เช่น 1) โครงการแก้มลิงกุดกว้างน้อย โดยการขุดลอกกุดกว้างน้อยในพื้นที่ 174 ไร่ ลึกประมาณ 2.50 ม. พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ งบประมาณ 24,057,000 บาท โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 800 ไร่ จำนวน 300 ครัวเรือน กำจัดวัชพืช ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 11 ไร่ งบฯ 0.40 ล้านบาท 2) โครงการแก้มลิงกุดกว้างใหญ่ โดยการขุดลอกกุดกว้างใหญ่ในพื้นที่ 362 ไร่ ลึกประมาณ 2.50 ม. พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ งบประมาณ 61,676,000 บาท โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 1,200 ไร่ จำนวน 350 ครัวเรือน และกำจัดวัชพืช ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 17 ไร่ งบฯ 0.61 ล้านบาท โดยรองอธิบดีกรมชลประทานรายงานว่าจะเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชและขุดลอกคูคลองให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนและฤดูน้ำจะมาถึง ส่วนกรณีทีต้องมีการขนดินออกนอกพื้นที่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับที่จะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โอกาสนี้ นายกฯ ได้ชื่นชมถึงแนวทางที่จะมีการเร่งกำจัดวัชพืชและขุดลอกคูคลองแล้วเสร็จรองรับก่อนฤดูน้ำจะมาถึง เพื่อให้สามารถระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากติดปัญหาในเรื่องใดก็เร่งหาแนวทางแก้ไขและให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

จากนั้น นายกฯ ได้เดินพบปะทักทายประชาชนอย่างเป็นกันเอง โดยนายกฯ กล่าวทักทายชาวกาฬสินธุ์ด้วยภาษาอีสาน “สวัสดี พ่อใหญ่ แม่ใหญ่” ทุกคน พร้อมกล่าวรู้สึกดีใจที่ได้กลับมากาฬสินธุ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากก่อนนั้นได้มาหาเสียงที่นี่ โดยวันนี้มาในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อมาติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร โดยจะทำให้ดีที่สุด ทั้งการขุดลอกคูคลองต่าง ๆ และการกำจัดวัชพืช ตลอดจนเรื่องของการขุดแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอสำหรับประชาชน พร้อมย้ำดีใจที่ได้มาพบกับประชาชนชาวกาฬสินธุ์ ยืนยันปีหน้าจะกลับมาอีก