In News

ภารกิจนายกฯร่วมประชุมอาเซียน-ออสซี่ ทวีภาคี3ปท.-บิ๊กธุรกิจเหมือง-โลจิสติกส์



​นายกฯ หารือทวิภาคี นายกฯ ออสเตรเลีย สานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน มุ่งผลักดันการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้นายกฯ ไทย - สปป. ลาว หารือทวิภาคี ผลักดันความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างกัน พร้อมแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ และหารือเอกชนรายใหญ่ ด้านการถลุงแร่ และการขนส่งโลจิสติกส์ นายกฯ ปลื้ม เอกชนสนใจลงทุนด้าน Cold Storage Facility ในไทยตามนโยบาย Aviation Hub นอกจากนั้นยังได้หารือมาเลเซีย แบบทวิภาคี ผลักดันความร่วมมือรอบด้าน ทั้งการท่องเที่ยว โครงการด้านความเชื่อมโยงชายแดนไทย – มาเลเซีย และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อำนวยความสะดวกและสร้างสันติสุขร่วมกัน

วันนี้ (5 มีนาคม 2567) เวลา 11.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ Melbourne Convention and Exhibition Center (MCEC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกฯ ยินดีที่ได้พบ นายกฯ ออสเตรเลียอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2566 รวมถึงยังเป็นโอกาสในการต่อยอดจาการเยือนประเทศไทยของพลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนสาขาที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนายกฯ ได้กล่าวเชิญนายกฯ ออสเตรเลีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมาเยือนจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ด้าน นายกฯ ออสเตรเลียเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่ดีร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของออสเตรเลีย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
 
ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึงร้อยละ 186 โดยจะปรับปรุงความตกลงฯ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
 
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯ ได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
 
ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MoU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯ ยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกันเพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา
 
ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และ พัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ขณะที่ด้านแรงงาน นายกฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่องหรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้
 
ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกฯ กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค

นายกฯ ไทย - สปป. ลาว หารือทวิภาคี ผลักดันคการท่องเที่ยว-การเดินทาง-แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ช่วงเวลา 11.20 น.  ณ Melbourne Convention and Exhibition Centre (MCEC) นายเศรษฐา พบหารือกับนายสอนไซ สีพันดอน (His Excellency Mr. Sonexay Siphandone) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ยินดีที่ไทยและ สปป. ลาว ได้เริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนแล้ว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานของฝ่ายลาว โดยทางฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนฝ่ายลาวเพิ่มเติม

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่

ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเเละการเดินทางระหว่างกัน นายกฯ ผลักดันแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ (Six Countries, One Destination) ซึ่งเป็นการสนับสนุนแคมเปญ “ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว (Visit Laos Year 2024)” โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดต่อไป และขอให้ฝ่ายลาวเร่งรัดการกำหนดที่ตั้งของ Common Control Area (CCA) ในฝั่งลาว เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยฝ่ายไทยเห็นควรว่าให้ตั้งที่บริเวณมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เป็นที่แรก

นอกจากนี้ ตามที่ฝ่ายลาวมีคำขอ ไทยยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซ่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) และไทยพร้อมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของสะพานในปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย

ด้านการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด และการฉ้อโกงออนไลน์ (Online scam)

นายกฯ หารือเอกชนใหญ่ ด้านการถลุงแร่ และการขนส่งโลจิสติกส์

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับบริษัทเอกชนออสเตรเลีย ดังนี้ 

เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น) พบ Dr. Andrew Forrest AO, Executive Chairman and Founder ผู้บริหาร Fortescue ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Perth ปัจจุบัน เป็นบริษัทถลุงสินแร่เหล็ก (Iron Ore) อันดับ 4 โลก มีกำลังการผลิต 192 ล้านตันต่อปี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำและแบตเตอรี่อีวี โดยได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอร์รี่ไฮโดรเจนและไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย พร้อมกล่าวชื่นชมนโยบายการผลิตพลังงานสีเขียวและเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ของไทยด้วย 

เวลา 10.40 น. (เวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น) Mr. Peter Fox AM, Executive Chairman ผู้บริหาร Linfox ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะของออสเตรเลีย มีสำนักงานใหญ่ที่ Melbourne มีการดำเนินการใน 9 ประเทศ ส่วนในประเทศไทย เป็นสำนักงานและศูนย์ควบคุมสำหรับภูมิภาค มีการลงทุนมาตั้งแต่ปี 1993 จำนวน 12 แห่ง เพื่อให้บริการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกและร้านอาหารมากกว่า 4000 ร้าน มีพนักงานในประเทศกว่า 6000 คน และบริษัท subcontract กว่า 3000 แห่ง นายกรัฐมนตรี โดยได้กล่าวว่า บริษัทฯ มีการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันไทยมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าต่อวันกว่า 2,000 คัน มีมาตรฐานในด้านความปลอดภัยของผู้ขับขี่ เพื่อลดปริมาณอุบัติเหตุบนท้องถนน มีแผนที่จะตั้งศูนย์ regional traffic control fleet ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาไทย พร้อมการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ในโอกาสนี้  Linfox สนใจเข้าเป็นผู้ให้บริการใน cold storage facility ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงการสร้างขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ในไทย เช่น โลตัส และกลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกัน โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกฯ ไทย-มาเลเซียผลักดันความร่วมมือรอบด้านอำนวยความสะดวกและสร้างสันติสุขร่วมกัน

ช่วงเวลา 09.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม The Langham นครเมลเบิร์น นายเศรษฐา ทวีสิน พบหารือกับดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือสรุปสาระสำคัญ  ดังนี้

โดยบรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างดีมาก นายกรัฐมนตรีได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างดี โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอ แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ (Six Countries, One Destination) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและฝ่ายมาเลเซียก็ยินดีรับนโยบายนี้ 

ในส่วนของการท่องเที่ยวนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่มีราคาสูง รวมทั้งช่วงเวลา Take off  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ในโอกาสนี้ไทยและมาเลเซียพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการผ่านแดนพร้อมทำให้เกิดเป็นผลรูปธรรมชัดเจน

ฝ่ายมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนด้าน food security และอาหารฮาลาลของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นโอกาสทองของไทย

มีโอกาสได้หารือกันในเรื่องเกี่ยวกับ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อความสงบสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมและเปิดโอกาสการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญควบคู่ขนานไปกับด้านความมั่นคง ซึ่ง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเห็นด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจดี จะเกิดความเชื่อมั่น

ในโอกาสนี้มาเลเซียได้หยิบยกประเด็นเรื่องยางพาราซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ให้หารือ เรื่องการพิจารณาสนับสนุนการขายยางพาราให้แก่มาเลเซีย 

นายกรัฐมนตรีได้แนะนำในมาเลเซียเกี่ยวกับกิจกรรม ITB ที่เบอร์ลินถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมทั้ง MIPIM 2024 ที่เมืองคานส์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของโลกด้าน Infrastructure และ real estate ถือเป็นโอกาสสำคัญ ให้ไทยนำเสนอ โครงการ Landbridge ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมและเปิดโอกาสการท่องเที่ยว ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญควบคู่ขนานไปกับด้านความมั่นคง ซึ่ง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเห็นด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจดี จะเกิดความเชื่อมั่น