In News

ปลาตายเกลื่อนเขื่อนลำปาวชาวประมงมึน



กาฬสินธุ์-ชาวประมงรอบเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่หาจับปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน กำลังประสบปัญหาจับปลาได้ยากมากขึ้น ระบุเป็นผลพวงมาจากสภาพอากาศวิปริต และน้ำเสียจากสารเคมีที่ไหลลงเขื่อน เป็นสาเหตุของปลาตาย จึงหาจับปลาได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่สั่งจองไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนช่วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่  3 พฤษภาคม 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝน โดยเฉพาะชุมชนรอบเขื่อนลำปาว ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ลงเรือ เพื่อหาจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม เหมือนไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากนัก เนื่องจากอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่โล่งแจ้ง ปลอดโปร่ง ไม่แออัด โดยเฉพาะถือว่าอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบกว่าชุมชนเมือง หรือชุมชนที่อยู่นอกเขตชลทาน เพราะมีแหล่งน้ำให้หาจับสัตว์น้ำ เพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

นายถวัลย์ ชารี อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 30 บ้านหนองม่วง หมู่ 7 ต.ลำคลอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนกับเพื่อนบ้านที่มีความชำนาญในการหาปลา บริเวณรอบเขื่อนลำปาว บางคนใช้แห ลอบ เบ็ด และตาข่ายดักปลา เคยจับปลาได้วันละหลายสิบ ก.ก. มีรายได้จากการขายปลาวันละ 500-1,000บาท ซึ่งปลาที่จับได้ เช่น ปลาสร้อย ปลากราย ปลาสวาย ปลานิล โดยจะนำไปประกอบอาหารทานในครัวเรือนและเพื่อการจำหน่าย ทั้งในรูปแบบปลาสด หรือแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาแดดเดียว ปลาร้า ซึ่งหากรวมยอดในแต่ละสัปดาห์ จะได้คนละ 500-800 ก.ก.หรือถึง 1 ตันเลยทีเดียว อาชีพจับปลาจึงเป็นอาชีพหลักของชาวประมงหลายราย ขณะที่ตนมาหาปลาเป็นอาชีพเสริมจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและทำนา

นายถวัลย์ กล่าวอีกว่า  ในระยะหลังมานี้การหาจับปลาบริเวณรอบเขื่อนลำปาวจะหายากมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหามาจากน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรพื้นที่เหนือเขื่อนลำปาวปลูกมัน ปลูกอ้อย เมื่อมีฝนตกลงมาได้ชะล้างสารเคมีที่ตกค้างในแปลงเกษตรลงสู่เขื่อนลำปาว ส่งผลกระทบต่อน้ำและทำให้ปลาตาย นอกจากนี้ในฤดูแล้ง และเริ่มต้นฤดูฝนที่สภาพอากาศวิปริต บางวันร้อน บางวันฝนตก ประกอบกับน้ำในเขื่อนเหลือน้อย จึงทำให้ปลาบางชนิดปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดการน็อคตาย ส่วนที่เหลือก็อพยพลงไปอาศัยอยู่ในบริเวณร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นเขตอันตราย รวมทั้งห้ามล่าและห้ามเข้าไปจับปลา จึงทำให้ช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง

นายถวัลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงนี้หาจับปลาได้น้อยลง หรือได้วันละ 10-20 ก.ก.เท่านั้น บางวันได้เพียงบริโภคในครัวเรือน ไม่เพียงพอที่จะนำไปขายให้ลูกค้า โดยเฉพาะพ่อค้าคนกลางที่สั่งซื้อจอง เพื่อนำไปขายต่อตามตลาดชุมชนและเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม  จึงเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย ในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายปลา ให้กับลูกค้าและประชาชนในชุมชน ที่หลายคนกักกันตัวเองอยู่บ้าน ต้องการปลาไปประกอบอาหาร และกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19