In News
ภารกิจนายกฯร่วมแถลงกับปธน.ฝรั่งเศส หารือผู้จัดFormula1ให้ความสนใจไทย
นายกฯ สัมภาษณ์สื่อมวลชน สรุปประเด็นการหารือแบบ four eyes กับ ปธน. มาครง รับฟังข้อมูลจากนักวิชาการ EDF และ หารือกับผู้จัด Formula 1 ก่อนหน้านี้ นายกฯ รับฟังแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ด้านพลังงานสะอาด และหารือ ผู้บริหารบริษัท Formula One Group และนายกฯ และ ปธน. ฝรั่งเศส ร่วมแถลงข่าว หารือกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อจากนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสรุปภารกิจ ดังนี้
นายกฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีมาครง ยินดีให้ความร่วมมือ และสนับสนุนไทย ในการยกเว้นการตรวจลงตรา VISA FREE สำหรับประเทศใน Schengen โดยจะเริ่มพิจารณาได้หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหภาพยุโรป ซึ่งจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมิถุนายน และหวังว่าไม่เกินปลายปีน่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำกับ ปธน.มาครงว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศเนื่องจากจะเพิ่มโอกาสการเดินทางของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ และถือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
การหารือถึงการเร่งรัดการทำ FTA ไทย-EU ซึ่งน่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีครึ่ง รวมทั้งมีการพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือทางการทหารซึ่งจะมีการพูดคุยในรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่ายินดีคือในเดือนพฤษภาคม 2567 จะนำคณะนักธุรกิจไทยมาฝรั่งเศส และในเดือนกันยายนคณะธุรกิจฝรั่งเศสจะเดินทางเยือน ประเทศไทย รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะไปเยือนไทยปีหน้าด้วย
โดยนายกฯ ได้เล่าถึงบรรยากาศในการหารือที่เป็นไปอย่างสบายๆ เป็นกันเอง และนายกรัฐมนตรียังได้ใช้โอกาสนี้อธิบายถึงสถานการณ์ในเมียนมา การดำเนินการต่างๆ โดยได้ย้ำว่าไทยเป็นกลาง และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันของทุกฝ่าย
จากนั้นนายกรัฐมนตรีพบผู้บริหาร EDF ซึ่งเปรียบเสมือนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในยุโรป เป็นผู้ส่งพลังงานให้ปลายประเทศในยุโรป รวมทั้งอังกฤษ ซึ่งได้รับฟังในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำว่ามีความละเอียดอ่อน แม้ว่าในหลายประเทศได้มีการพัฒนาในด้านนี้ซึ่งถือว่าพลังงานที่มีความเสถียรสูง ราคาต่ำซึ่ง อย่างไรก็ดี นายกฯ เน้นย้ำว่า ในการดำเนินการต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา โดยทางบริษัทฯ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย โดยพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยพัฒนา ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าในการเดินหน้าเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างละเอียด ตอนนี้ยังถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษา ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลต้องสอบถามประชาชน ดำเนินการอย่างโปร่งใส
จากนั้นได้พบปะกับผู้บริหาร F1 ซึ่งให้ความสนใจประเทศไทยพร้อมนัดหมายพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีถึงรายละเอียดความเป็นไปได้ ของสถานที่ ในการจัด street race ซึ่งนายกฯ มั่นใจว่าหากมีการจัดแข่งขันขึ้นจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทยโดยกล่าวว่าการจัดการแข่งขันเร็วที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในปี 2027 ซึ่งไทยพร้อมเสนอตัว รวมทั้ง ไทยจะเปิดตัวโครงการใหญ่เร็วๆ นี้ เรื่องความปลอดภัยในการใช้ถนน (Road Safety) ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติ
นายกฯ รับฟังแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ด้านพลังงานสะอาด และหารือ ผู้บริหารบริษัท Formula One Group
เวลา 15.50 เมื่อวันที่11 มีนาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปยัง สำนักงานใหญ่ Electricite de France (EDF) รับฟังการบรรยายสรุป และหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง แนวทางจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งการยอมรับโดยภาคประชาสังคม เรื่องความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ การป้องกันกัมมันตรังสี และการป้องกันสิ่งแวดล้อมและประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายที่จะศึกษาความเป็นไปได้ เรียนรู้แนวทาง ความคิด และวิสัยทัศน์ด้านพลังงานของประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ไทยมีแนวความคิดที่กว้างขวาง เท่าทันทุกการเปลี่ยนแปลงในโลก และที่สำคัญมีความมั่นคงด้านพลังงาน
หลังจากนั้น เวลา 17.30 น. นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนาย Stefano Domenicali ผู้บริหารบริษัท Formula One Group ผ่านระบบการประชุมทางไกลแบบออนไลน์ โดยได้หารือกันในประเด็น เกี่ยวกับแนวทางการจัด Formula 1 ในประเทศไทย ฝ่ายผู้จัดเรียนว่าประเทศไทยเป็น ประเทศที่เหมาะสมสำหรับการขยาย การแข่งขัน Formula 1
โดยฝ่ายผู้จัดจะรีบมาสำรวจสถานที่ในประเทศไทยและเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายกฯ และ ปธน. ฝรั่งเศส ร่วมแถลงข่าว หารือกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อจากนี้
เวลา 13.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Palais de l’Elysée) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แถลงข่าวร่วมกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวโดยสรุป ว่าทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก
นายกฯ ขอบคุณการต้อนรับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรปนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และยินดีกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Paris 2024 ของฝรั่งเศส หวังวจะมีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีมาครงที่ไทยอีกครั้ง ไทยและฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จุดยืนและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ โดยนายกฯ ได้กล่าวถึง 4 ประการ พื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันดังนี้
หนึ่ง ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า 300 ปี โดยปี 2568 จะครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี 2569 ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 170 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต
สอง ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ
สาม มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเองก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือของนานาประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม และกฎบัตรสหประชาชาติ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ และ
สี่ รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล
โดยนายกฯ กล่าวถึงการแถลง 8 วิสัยทัศน์เพื่อจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคใน 8 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งในภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน และจะได้เชิญชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย ดังนี้
หุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 โดยจะหารือถึงความร่วมมือยานยนต์ พลังงานสะอาด การบินและการขนส่ง รวมถึงเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศส พิจารณาการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย
ทั้งนี้ นายกฯ ยังชื่นชมข้อริเริ่ม Paris Pact for People and the Planet หรือ 4P Initiative ของฝรั่งเศสที่มุ่งขจัดความยากจนไปพร้อมกับการอนุรักษ์โลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของไทยเช่นกัน
หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ นายกฯ เชื่อมั่นว่าหากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568 มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย
นายกฯ หวังที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสพัฒนาวัตถุดิบ และเทคนิคการออกแบบผ้าไหมและผ้าไทยร่วมกับสถาบันแฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และร่วมมือกับแบรนด์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของฝรั่งเศสในการนำสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ด้วย
หุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งนายกฯ จะเสนอให้มีการร่วมทุนระหว่างสองฝ่าย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและศูนย์ซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของภูมิภาค
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสกว่า 20 แห่งจากภาคยานยนต์ การบิน พลังงานสะอาด แฟชั่น กีฬา การโรงแรม และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสและลู่ทางด้านธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของชาวฝรั่งเศส ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยกว่า 2 แสนคนที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศสถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูง นายกฯ ย้ำว่า หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเกนให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้านกับฝรั่งเศส จากนี้ไปอีกหลายทศวรรษ