In Bangkok

กทม.ผงาดขึ้น50อันดับใน1ปีหน่วยงาน โปร่งใสด้านก่อสร้าง/ชวนร่วมตรวจสอบ



กรุงเทพฯ-กทม. ผงาดขึ้น 50 อันดับภายใน 1 ปี หน่วยงานโปร่งใสด้านก่อสร้าง ชวนประชาชนใช้ Traffy Fondue ร่วมตรวจสอบโครงการ

(13 มี.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับฟังการนำเสนอรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลโครงการ CoST ระดับจังหวัด นำร่องระยะที่ 2 ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า  

สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative: CoST) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Department for International Development ของประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมีสมาชิก 19 ประเทศ ซึ่งโครงการ CoST เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุนี้สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินงานโครงการ CoST ของประเทศไทย จึงได้สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมการดำเนินงานโครงการ CoST ระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ และคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) จึงได้คัดเลือก กรุงเทพมหานคร จังหวัดสกลนคร และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดนำร่อง

โดยโครงการส่งเสริมการดำเนินงาน โครงการ CoST ในระดับจังหวัด “กรุงเทพมหานคร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ด้านการเปิดเผยข้อมูล มีโครงการที่เข้าร่วม 25 โครงการ ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดเผยข้อมูลแล้วทั้งสิ้น 22 โครงการ และมีโครงการที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลบนระบบ CoST จำนวน 3 โครงการ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ที่ร้อยละ 93.66 เมื่อเปรียบเทียบการเปิดเผยข้อมูลโครงการ CoST ของกรุงเทพมหานคร พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการเปิดเผยข้อมูลเฉลี่ยเป็นลำดับที่ 20 จากเดิมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2665 มีการเปิดเผยข้อมูลเฉลี่ยอยู่ในลำดับที่ 75

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยว่า ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ของนโยบาย เพราะเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่ง CoST เป็นโครงการระดับนานาชาติที่มีหลายหน่วยงานร่วมมือกัน ทั้งกรมบัญชีกลาง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน สถานทูตอังกฤษ และ UNDP เป็นการเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการก่อสร้าง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล กรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่โดยในปีต่อไปจะเพิ่มโครงการที่เข้าร่วมกว่า 50 โครงการ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายเป็นจังหวัดที่มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ในลำดับเลขตัวเดียวให้ได้ และเราจะจริงจังเรื่องความโปร่งใสในทุกมิติและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบร่วมกัน

“หัวใจหลักคือ Traffy Fondue ที่ผ่านมาประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนมากว่า 500,000 เรื่อง ดังนั้นหากมีเรื่องใดที่อยากให้ กทม. ปรับปรุงหรือพบความไม่โปร่งใสต่างๆ สามารถแจ้งเข้ามาได้ เราจะมีการติดตามและนำข้อมูลไปปฏิบัติอย่างใกล้ชิด หากเป็นงานก่อสร้างในพื้นที่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานได้ ต่อไปจะพัฒนาเป็น QR Code ที่จะให้ข้อมูลประชาชน ดังนั้นทุกอย่างมาจากภาษีประชาชน เรามาทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ทุกอย่างเราต้องช่วยกันดูแลเพื่อทำให้เมืองนี้ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน นางภัทรพร วรทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับกรุงเทพมหานครที่สามารถนำโครงการที่เข้าร่วมโครงการ CoST ขยับอันดับจากปี 65 ได้อันดับที่ 75 เมื่อนำร่องในโครงการ CoST โดยในปี 66 เลื่อนขึ้นมาสู่อันดับที่ 20 ขอให้ดำเนินการโครงการนี้ต่อไปเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษี