In News
ภารกิจนายกฯที่เยอรมนีปาฐกถาBVMW หารือฟ็อลคส์วาเกินและInfineon
นายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภารกิจสำคัญที่เยอรมนี นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) ชูศักยภาพไทย ดึงดูดการลงทุน SMEs เยอรมนี และนายกฯ ประเดิมเยือนเยอรมนี หารือผู้บริหาร Volkswagen และ Infineon Technologies AG
วันนี้ (13 มีนาคม 2567) 12.00 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภารกิจ โดยภารกิจแรกวานนี้ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในงาน MIPIM งานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นปีละครั้ง และใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีนี้นั้น นายกฯ มาร่วมงานเพื่อแจ้งว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และในปีหน้าไทยจะมาจัดงานอย่างยิ่ง จากนั้นได้พบพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุนของสหราชอาณาจักร ซึ่งให้การยืนยันว่าสนใจและพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย
ส่วนภารกิจในเช้าวันนี้ (13 มีนาคม 2567) นายกฯ พบบริษัท Volkswagen ซึ่งเคยเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายมาก ทั้งนี้เลขาธิการ BOI ได้เชิญบริษัทฯ เข้ามาลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากโดยนายกฯ ได้ให้ความมั่นใจว่า ไทยมีความพร้อม ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกในด้านการลงทุน (ease of doing business) สิทธิประโยชน์ การใช้ชีวิต รวมถึงค่าครองชีพ
จากนั้นได้พบผู้บริหารบริษัท Infineon Infineon Technologies AG เป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งบริษัทสนใจมาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงาน BVMW ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมภาค SMEs ของเยอรมนีไว้ โดยมีของไทยมาร่วมงานด้วย ซึ่งภาค SMEs ของเยอรมันมีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดย นายกฯ ได้ใช้โอกาสนี้ย้ำว่า ไทยเปิดแล้ว และมีโอกาสสำหรับการลงทุนอย่างมาก โดยนายกฯ ยังได้แวะชมบู๊ทของ AWS ซึ่งได้เข้ามาลงทุนใน Data center ในประเทศประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการพบกันของ นายกฯ กับผู้บริหาร AWS ระหว่าง เดินทางไปร่วมการประชุม APEC ที่สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมบู๊ทและนั่งรถยนต์ BMW i5 ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเต็มตัว สามารถวิ่งได้ 650 กิโลเมตร
จากนั้นเยี่ยมชมห้าง Kadewa ซึ่งมีคนไทยเป็นหุ้นส่วน โดยได้แวะชมแผนกสินค้าไทย และร้านอาหารไทยซึ่งถือเป็นร้านที่ขายที่ดีที่สุดในห้าง รวมทั้งได้พบปะกับพนักงานคนไทย โดยนายกฯ ได้ขอให้นำสินค้าไทยมาขายในห้างมากขึ้น เช่น ผ้าขาวม้า หรือกระเป๋ากระจูด โดยห้างยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยคนไทย ซึ่งผู้บริหารห้างให้การยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ชื่นชอบของคนเยอรมันเป็นอย่างมาก หากสินค้าผ่านคุณภาพและมาตรฐานของยุโรปก็จะได้นำมาขายที่ห้างได้โดยเร็ว
โดยนายกฯ ยังกล่าวว่าในช่วงบ่ายจะพบผู้บริหารภาคเอกชนอีกหลายรายและจะมีการพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ แล้วจะเดินทางกลับประเทศไทยในทันที
ส่วนประเด็นยางพาราที่ราคาทะลุ 90 บาทในรอบ 7 ปีนั้น นายกฯ อยากให้ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยกำลังเดินหน้าหาแนวทางเช่น มาตรการเกษตรแม่นยำ โดยไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแค่ผ่านทาง เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้มงวดมากขึ้น มั่นใจว่าศักยภาพของยางพาราจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ดีที่สุด
นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) ชูศักยภาพไทย ดึงดูดการลงทุน SMEs เยอรมนี
เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) ณ STATION Berlin กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (German Association for Small and Medium-Sized Businesses: BVMW) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองประจำปีฯ และพบปะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเยอรมนี และนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่าง SMEs ไทยและเยอรมนี นำเสนอศักยภาพของไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนีในการที่จะเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมกล่าวถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล 8 วิสัยทัศน์ รวมถึงได้แสดงความมุ่งมั่นในการกระตุ้นการขยายการลงทุนของ SMEs ในไทย ดังนี้
1. แนวคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่น และมีแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค และสามารถเป็นแหล่งการผลิตยานยนต์สีเขียวให้เยอรมนีได้ โดยรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาค โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลได้ออกมาตรการ “ตลาดนำ” ที่ส่งเสริมอุปสงค์รถไฟฟ้า พร้อมเพิ่มแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังต้องการไฮโดรเจนสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการขนส่งทางไกล และอุตสาหกรรมหนักในไทย ทั้งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ และการแปรรูปอาหาร พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ SMEs ของเยอรมนี ที่เชี่ยวชาญด้านไฮโดรเจนสีเขียว และในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตร้อยละ 50 ภายในปี 2583 และมาตรการ Utility Green Tariff ที่ส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้ด้วย
2. ระดับภูมิภาค (Regional Community) รัฐบาลมุ่งสร้างโอกาสและยกระดับศักยภาพของประเทศจากข้อได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของไทย และนำเสนอโครงการ Landbridge ซึ่งจะลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างสองมหาสมุทร และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแบบไร้รอยต่อ
สำหรับเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของโลก ไทยกำลังหารือแนวทางการสร้างสนามบินใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ ตลอดจนยกระดับสนามบินในเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงจะเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค และด้วยศักยภาพในเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดแปซิฟิคดังที่ได้กล่าวมานี้ จึงขอเชิญชวน BMVW มาจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในไทยด้วย
3. การเปิดกว้าง รัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่ตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 ซึ่งจะถือเป็นกลไกสำคัญในการขยายการส่งออกจาก EU มาไทยเพิ่มมากกว่า 40% และการส่งออกจาก EU ไปไทยมากกว่า 25% รวมถึงเป็นการยกระดับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดึงดูดให้ประเทศในสหภาพยุโรปอื่น ๆ มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยยังอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจ ด้วยโครงการการยกเว้นวีซ่าและการตรวจลงตราวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ไทยในฐานะศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของโลก ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันมากกว่า 7 แสนคน ในปี 2566 ในทางกลับกัน รัฐบาลหวังว่าคนไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเยอรมนีและ EU มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถพำนักระยะสั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า
4. ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งครอบคลุมถึงความยั่งยืน ทั้งในการตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก โดยให้ความสำคัญกับการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืน โดยการเปลี่ยนผ่านสีเขียวจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับเยอรมนีในการนำเทคโนโลยีมามีส่วนร่วมในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก
นอกจากนี้ ความยั่งยืนยังรวมถึง การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยนชน ความรับผิดชอบ และความเท่าเทียม ซึ่งไทยมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในฐานะประเทศแรกของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้นำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาใช้ โดยพร้อมแสวงหาความร่วมมือกับภาคธุรกิจของเยอรมนี ในการปฏิบัติตาม Supply Chain Due Diligence Act ของเยอรมนี ที่มีจุดประสงค์มุ่งผลักดันให้ทั่วโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และแนวคิด ESG
5. การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งจะเป็นเวทีในการสนับสนุนให้เกิดการหารือกันระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับการสร้างและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจของทั้งสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงท้ายว่า แนวคิดข้างต้นล้วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับศักยภาพความร่วมมือไทย-เยอรมนี พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า SMEs ของเยอรมนีจะมีโอกาสเติบโตมี Big Future ในไทยอย่างมหาศาล
นายกฯ ประเดิมเยือนเยอรมนี หารือผู้บริหาร Volkswagen และ Infineon Technologies AG
นายเศรษฐา ทวีสิน พบผู้บริหารบริษัทเอกชนสำคัญของประเทศเยอรมนีดังนี้
เวลา 08.45 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน) นาย Thomas Schäfer, Member of the Board บริษัท Volkswagen Group และ CEO ของ Volkswagen Brand ผู้ผลิตยานพาหนะรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี
ซึ่งมีเทคโนโลยีทางวิศวกรรมยานยนต์ขั้นสูง
ปัจจุบันบริษัท Volkswagen มีโรงงานผลิตรวม 114 แห่งทั่วโลก รถยนต์ของบริษัทมีจำหน่ายในกว่า 150 ประเทศ ซึ่ง Volkswagen มีแผนการขยาย Charging Network สำหรับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายการชาร์จ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้น ด้วยการสร้าง Quick Charge 45,000 จุดทั่วโลกภายในปี 2568
บริษัทฯ ทำการค้าในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นายกฯ เชิญชวนบริษัทฯ มาลงทุนในไทย long term investment ซึ่งบริษัทฯ ชื่นชมนโยบายของรัฐบาลไทย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความเป็นมืออาชีพของบริษัทฯ และให้ความมั่นใจบริษัทในเรื่องนโยบายด้านการใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีแนวความคิดที่ตรงกันจึงเห็นควรพิจารณาเพิ่มความร่วมมือ
จากนั้น เวลา 09.10 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน) ผู้บริหารบริษัท Infineon Technologies AG เป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และติดอันดับ Top 10 ของโลก มีการดำเนินธุรกิจใน 25 ประเทศ มีลูกค้าหลักในกลุ่มยานยนต์ บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สำหรับยานยนต์และระบบอุตสาหกรรม ระบบเซ็นเซอร์ คอมพิวเตอร์ ขนาดเล็กที่ใช้สำหรับควบคุมระบบ
ปัจจุบัน บริษัทนี้ใช้พลังงานสีเขียวในกระบวนการผลิตทั้งหมดในโรงงานยุโรป และสำหรับโรงงานในเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงโรงงานในเมืองกูลิมและมะละกา ประเทศมาเลเซีย ก็ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียว 100% แล้วเช่นกัน
โดยนายกฯ กล่าว ชื่นชมบริษัทฯ ที่ไม่ได้ลงเงินอย่างเดียว แต่เน้นการลงทุนใน research และ training ให้กับคนไทยด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวโน้มจะลงทุนในไทยเพิ่ม และมีแผนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่มีทักษะเฉพาะสำหรับ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านโครงการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Co-op) โครงการ Sandbox และโครงการวิจัยร่วม รวมถึงการส่งนักศึกษาไปฝึกงานและเรียนรู้วิธีการผลิตชิปที่โรงงานเวเฟอร์ของบริษัทในมาเลเซีย ซึ่ง นายกฯ ได้กล่าวให้ความมั่นใจไปในหลายเรื่อง และย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนตามนโยบาย ease of doing business