In Bangkok
กทม.ชี้แจงแนวทางรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ที่ใช้บริการสถานพยาบาลในสังกัด
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาระบบส่งตัวผู้ป่วยตามสิทธิบัตรทองว่า สนอ.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับรูปแบบบริการและการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็นแบบ OP New Model 5 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อสรุปการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิไม่ตรงตามสิทธินั้น ให้หน่วยบริการปฐมภูมิพิจารณาให้บริการแก่ผู้ป่วยในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควรได้ตามความเหมาะสม ส่วนกรณีที่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังหน่วยบริการรับส่งต่อ เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับรูปแบบการเบิกจ่าย โดยให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยไปรับการประเมินอาการจากหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิก่อน หากเกินศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิจะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลรับส่งต่อต่อไป กรณีที่ไม่มีใบส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือใบส่งต่อไม่ตรงตามสิทธิ ผู้ป่วยสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อได้ในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร ซึ่งโรงพยาบาลจะพิจารณาให้การรักษาตามกรณี
ทั้งนี้ สนอ.ได้จัดประชุมชี้แจงศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กทม.ทั้ง 69 แห่ง เพื่อทราบแนวทาง การให้บริการผู้ป่วยกรณี New Model 5 โดยขอให้ ศบส.ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ไม่ตรงตามสิทธิในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร กรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีสิทธิที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่นมารับบริการที่ ศบส. โดย ศบส.จะให้การรักษาในเบื้องต้นและแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับยาต่อเนื่องที่หน่วยปฐมภูมิตามสิทธิ พร้อมทั้งส่งประวัติการรักษาพยาบาลให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลแบบใกล้บ้านใกล้ใจที่หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิของตนเอง หากมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งต่อ หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิจะสามารถพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อได้ทันที
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช.กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีผู้ป่วยบัตรทองส่งต่อโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.จากที่ประชุมทุติยภูมิ-ตติยภูมิ ในกรณีการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นดุลพินิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ประชาชนยังมีความกังวล ดังนั้น ในระยะยาวจะต้องจัดทำกลไกระบบส่งต่อ เพื่อรองรับประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ.ช่วยลดความขัดแย้งกรณีการส่งต่อ โดยเฉพาะประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อน หรือต้องใช้ยาราคาแพง ซึ่งเกินศักยภาพการดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เห็นชอบร่วมกันให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการได้ตามระบบ ซึ่งจะเสนอตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อชี้ขาดกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับใบส่งตัวด้วย โดยเน้นย้ำว่า ประชาชนที่มีใบนัด มีใบส่งตัวเดิม ขอให้ไปที่ รพ.รับส่งต่อและรับบริการได้ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ชี้แจงและ รพ.รับทราบแนวทางแล้ว กรณีที่มีใบนัด แต่ไม่มีใบส่งตัวให้ รพ.พิจารณาให้การรักษาแล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถเบิกกับ สปสช.ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สนพ.ได้เตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน รวมถึงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้าใช้บริการ รพ.สังกัด กทม.ดังนี้ (1) กรณีผู้ป่วยมีบัตรนัดของ รพ. แต่ไม่มีใบส่งตัวของหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัด เบื้องต้น รพ.จะให้บริการประชาชน แล้วเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ ครั้งถัดไปให้ขอใบส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิ (2) กรณีผู้ป่วยมีบัตรนัดของ รพ. แต่ใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น เบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ (3) กรณีไม่มีบัตรนัด ประกอบด้วย (3.1) กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ รพ.ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ชักช้าและไม่ต้องขอหนังสือส่งตัวจากต้นสังกัดเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE และกรณีไม่ใช่อุบัติเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และ รพ.เห็นควรว่า ไม่ควรรอ ให้ รพ.ให้บริการไปก่อน และ (3.2) เบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP AE ,OP Anywhere หรือ CA Anywhere ฯลฯ (4) กรณีที่หน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดมีใบส่งตัว ประกอบด้วย (4.1) หน่วยบริการที่รับการส่งต่อให้การรักษาได้ เบิกค่ารักษาพยาบาลตามระบบ FS ไม่เกิน 800 บาท (ตามมติ) เบิกจากต้นสังกัด ส่วนเกินเบิกจากกองทุน OP Refer หรือ (4.2) หากเกินศักยภาพของ รพ.รับส่งต่อแห่งที่ 1 ให้ รพ.รับส่งต่อแห่งที่ 1 ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อยัง รพ.แห่งที่ 2 ที่มีศักยภาพได้ โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่คลินิกปฐมภูมิต้นสังกัด แต่ต้องแจ้งให้หน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดทราบและเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุน OP Refer หลังจากนั้น รพ.แห่งที่ 2 เห็นว่า มีความจำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้ส่งประวัติการรักษากลับไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดพิจารณาการส่งตัวมายัง รพ.แห่งที่ 2 โดยขอความร่วมมือออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน
ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิควรให้บริการเต็มศักยภาพก่อนส่งต่อและเมื่อส่งต่อต้องเขียนใบส่งตัว (เสนอคณะทำงานฯ ปฐมภูมิ) เพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่ายกรณี OP AE จำกัดจำนวนวัน จำนวนยาในการเบิกจ่าย และขอให้ รพ.ส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลกลับไปให้คลินิกพิจารณาว่า สามารถให้บริการต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยวิธีการส่งเอกสาร หรือเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์