In News
ศอ.บต.ย้ำ!เข้มชายแดนมาเลย์คุมโควิด
สงขลา-โฆษก ศอ.บต. แถลงถึงความห่วงใยของเลขาธิการ ศอ.บต. เน้นย้ำให้จนท.ตามแนวชายแดนคุมเข้ม การลักลอบข้ามแดนจากประเทศมาเลเซีย เพื่อป้องกันเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ที่กำลังระบาด พร้อมเผยถึงความคืบหน้าแรงงานไทย 42 คน ที่โดนจับกุมในขณะนี้
นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะโฆษก ศอ.บต. ได้เปิดเผยถึงยอดตัวเลขของผู้ติดเชื้อในปัจจุบันว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีกระจายไปทั่วโลก ซึ่งวันนี้ (5 พฤษภาคม 25654) มียอดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,112 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 46,037 ราย และเสียชีวิต 15 ราย ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 จังหวัดยะลา มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 86 ราย รักษาหาย 17 ราย เสียชีวิต 2 ราย จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 158 ราย ผู้ป่วยหายแล้ว 9 ราย เสียชีวิต 0 ราย จังหวัดนราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย ผู้ป่วยสะสม 522 ราย รักษาหาย 482 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดสงขลามีผู้ป่วยรายใหม่ 10 ราย ผู้ป่วยสะสม 724 ราย รักษาหาย 353 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดสตูล มีผู้ป่วยรายใหม่ 0 ราย ผู้ป่วยสะสม 41 ราย หายแล้ว 26 ราย และเสียชีวิต 0 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,531 ราย (ข้อมูลจากศคบ.แต่ละจังหวัด) ขณะนี้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกิจกรรมที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมจะต้องปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือให้มัสยิดในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการหากจังหวัดใดมีผู้ติดเชื้อเกิน 50 คน ให้ยกเลิกการปฏิบัติศาสนกิจทันที
สำหรับการลักลอบข้ามแดนของคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียนั้น พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความห่วงใยผ่าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงเจ้าหน้าที่ทุกนายต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน ทั้งกัมพูชา เมียนมาร์และมาเลเซียว่า ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและมีความปลอดภัยทั่วกันพร้อมทั้งยังได้ฝากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง ด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอและบุคลากรทางสาธารณสุขทุกส่วนทุกฝ่าย ให้ติดตามสถานการณ์ชายแดน สกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและเข้มงวดมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ที่กำหนดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ที่จะต้องมีการเฝ้าระวังสูงกับความเสี่ยงของโควิด 19 สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศมาเลเซีย ที่อาจเข้ามาพร้อมกับผู้ที่เดินทางกลับจากมาเลเซีย ซึ่งอาจสร้างปัญหาและจำเป็นต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ปัจจุบัน ยังคงมีคนไทยจากมาเลเซียเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 มีคนไทยที่ลงทะเบียนในการเดินทางกลับไทยจำนวน 10 คน ซึ่งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,418 คน อยู่ในรัฐกลันตัน 400 คน รัฐตรังกานู 184 คน มีผู้ติดเชื้อสะสม 415,012 คน และผู้เสียชีวิตสะสม 1,533คน (เพิ่มขึ้น 12 คน) ด้านสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย ประกาศว่า ตรวจพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 จากชาวอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย ผ่านสนามบิน KLIA นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (variants of concern : VOC) อื่นๆ อีก 30 สายพันธุ์ที่พบในประเทศมาเลเซียก่อนหน้านี้ ได้แก่ 27 สายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ และ 3 สายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันประเทศมาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธ์ VOC จำนวน 59 ราย และสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบด้วย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 จำนวน 48 ราย สายพันธุ์ UK B.1.1.7 จำนวน 8 ราย สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 จำนวน 1 ราย และสายพันธุ์ไนจีเรีย B.1.525 จำนวน 2 ราย
พร้อมกันนี้เลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้เน้นย้ำอีกว่า ให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย ห้ามหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างจะช่วยเหลือ รวมทั้งห้ามปลอมแปลงเอกสารทางราชการเพราะจะมีโทษในคดีอาญาอย่างหนัก
นอกจากนี้ในส่วนของความคืบหน้าแรงงานไทยที่ถูกจับกุมไปนั้น ศอ.บต. ได้รับการประสานข้อมูลจาก นายมงคล สินสมุทร กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู มาเลเซียว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 คนไทยทั้ง 42 คน ได้ถูกนำตัวขึ้นศาลที่เมืองตะเนาะเมเราะห์ และศาลได้พิจารณาปล่อยตัวคนไทย 4 คนที่เอกสารยังไม่หมดอายุ มีคนไทยบางส่วนที่จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 5,000 ริงกิต และบางส่วนไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ สำหรับคนไทยที่ได้จ่ายค่าปรับจะถูกส่งตัวไปยังศูนย์กักกันตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อส่งตัวกลับไทย ส่วนบุคคลที่ไม่สามารถจ่ายค่าปรับก็จะถูกส่งไปรับโทษที่เรือนจำต่อไป ทั้งนี้คนไทย จำนวน42 คน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ขณะเตรียมลักลอบเดินทางกลับประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก ภายหลังพ้นเส้นตายที่อนุโลมให้บุคคลที่พำนักในประเทศมาเลเซียเกินกำหนดจากสถานการณ์โควิด 19 และผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเดินทางออกจากประเทศมาเลเซียภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 เป็นผู้ชาย จำนวน 32 คน ไปสอบสวนที่สถานีตำรวจรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ส่วนผู้หญิง จำนวน 10 คนนำไปสอบสวนที่สถานีตำรวจปาเสมัส รัฐกลันตัน โดยผู้หญิง 1 คน มีอาการตกเลือดจึงนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาและเมื่อพ้นขีดอันตรายจึงส่งกลับมาที่ สถานีตำรวจปาเสมัสต่อไป
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา