Think In Truth

'พญาแถน-พญาคันคาก'ตำนานจุดบั้งไฟ ขอฝน  โดย : ฟอนต์ สีดำ



การไหว้ผีของชาวสยาม มีมาแต่ก่อนสมัยพุทธกาล เพราะชาวสยามจะมีความเชื่อกันอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มสยามบนหรือที่รู้กันทั่วไปว่า เสียม กุก มีความเชื่อเกี่ยวกับผี ซึ่งมีเทพสูงสุดคือพระอิทร์ และรองลงมาคือพญาแถน ที่คอยดูแลความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลกมนุษย์ เหล่าสัตว์ ให้พืชพันธุ์ ธัญญาหารได้รับน้ำมีความชุ่มชื้น เขียวขจีมีผลผลิตเลี้ยงดูผู้คน และเหล่าสัตว์ได้มีกินตลอดทั้งปี และอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มสยามลุ่ม หรือเสียมเรียบ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ มีวิทยาการด้านช่างและการชลทาน ชาวสยามลุ่มหรือขอม เป็นผู้ที่มีความพยายามจะเอาชนะธรรมชาติ มีวิธีคิดอยู่เหนือธรรมชาติ จึงเป็นผู้ที่แสวงหาแนวทางในการเอาชนะธรรชาติอยู่เสมมา ดังนั้นกลุ่มเสียมเรียบหรือสยามลุ่ม จึงเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เวทย์มนต์ ในการดำเนินการในสิ่งต่างๆ ที่ยากต่อการปฏิบัติ กลุ่มเสียมเรียบหรือขอมจึงถือได้ว่าเป็นจอมขมังเวทย์ กษัตริย์ในอาณาจักรขอม จึงมีคำว่า “วรมันต์” ประกอบอยู่ในพระนามเสมอ

ประเพณีขอฝนเป็นวัฒนธรรมในกลุ่มสยามบนหรือเสียมกุก ซึ่งนับถือศาสนาผี เพราะศาสนาผีไม่มีความรู้ความชำนาญในการชลประทาน ใช้ชีวิตอยู่ใต้กฏเกณฑ์ธรรมชาติ เคารพ เชื่อฟังต่อกฏ กติกาที่เป็นระเบียบแบบผนภายใต้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เป็นผีในแต่ละประเภท เช่นผีป่า ผีเขา ผีบ้าน ผีเรือน ผีไร่ ผีนา ผีห้วย ผีหนอง ผีบรรพชน ผีฟ้า ผีแถน ฯ ดังนั้นประเพณีการไหว้ผีของชาวสยามบน หรือเสียมกุก(สยามโคก) จะมีการไหว้ผีทุกเดือน เวียนไปทั้งสิบสองเดือนตามจารีที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน ที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง” ประเพณีขอฝน เป็นประเพณีที่ต่อเนื่อจากประเพณีสงกรานต์ในเดือนห้า ถึงเดือนหกชาวสยามบนก็จะมีประเพณีขอฝนหรือบุญบั้งไฟ เพื่อบูชาพญาแถน ซึ่งตำนานขอฝนของกลุ่มสยามบนหรือเสียมกุก มีอยู่ว่า

“พระนางแก้วเทวี มเหสีแห่งพญาเอกราชเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร ได้ประสูติพระโอรส ซึ่งมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่ว่ามีผิวหนังดุจคางคก และในวันที่พระกุมารประสูติ เกิดอัศจรรย์ ขึ้นบนพื้นโลก ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เปรี้ยงปร้าง ลมพายุพัดต้นไม้หักล้มระเนระนาด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับว่าโลกจะถล่มทลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญลงมาเกิด พระยาเอกราชได้จัดหาหญิงสาว ที่มีลักษณะดี เช่น มีถันเต่งตึงกลมงามมาเป็นแม่เลี้ยงนางนมแก่พระกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็คิดอยากจะได้คู่ครอง และอยากได้ปราสาทเสาเดียวไว้เป็นที่ประทับ จึงเข้าเฝ้าและทูลขอให้ พระบิดาช่วย ฝ่ายบิดาเห็นว่าพระโอรสของตนมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป คงไม่มีหญิงใดปรารถนาจะได้เป็นคู่ครอง จึงทรงบอกให้พระกุมารเลิกล้มความคิดเช่นนั้นเสียโดยให้เหตุผลว่าพระกุมารมีรูปร่างอัปลักษณ์ ทำให้พระกุมารเสียพระทัยยิ่งนัก

ต่อมาในกลางดึกสงัดของคืนวันหนึ่ง พระกุมาร จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนเคยได้สร้างสมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์จึงลงมาเนรมิตปราสาทเสาเดียวอันงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ และยังได้เอานางแก้วจากอุดรกุรุทวีปมามอบให้เป็นคู่ครอง ก่อนจาก ได้เนรมิตพระกุมาร ให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พญาเอกราชเห็นประจักษ์ในบุญบารมีของลูก จึงยกราชสมบัติบ้านเมืองให้ครอบครอง

เมื่อพระกุมารได้ครองราชย์แล้ว เจ้าเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาขออยู่ภายใต้ร่มบารมี แม้พวกพญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ลงไปถึงกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ผึ้ง ต่อ แตน มด ปลวก ต่างก็พากันมาถวายตัวเป็นบริวารจนหมดสิ้น ทำความไม่พอใจให้พญาแถนเป็นยิ่งนัก พญาแถนจึงไม่ยอมให้พวกพญานาคลงเล่นน้ำ เป็นเหตุ ให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวเฉา ตาย มนุษย์และเหล่าสัตว์ต่างพากันเดือดร้อน จึงไปทูลให้พญาคันคากทราบ พญาคันคากจึงไปยังเมืองบาดาลถามพวกนาคดู เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนแล้งแล้ว จึงให้พญานาคสร้างเส้นทางจากเมืองมนุษย์ขึ้นไปยังเมืองแถนเพื่อยกทัพไปทำศึกกับพญาแถน พญาคันคากยกทัพอันประกอบไปด้วยมนุษย์ และเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกขึ้นไปทำสงครามกับพวกพญาแถน

พญาคันคากกับพญาแถน ได้ต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อพญาแถน เห็นว่า จะเอาชนะพญาคันคากด้วยฤทธิ์เดชไม่ได้ จึงท้าให้ชนช้างกัน ในที่สุดพญาคันคากชนะ จึงจับพญามัดติดกับเสาหินด้วยพณานาคไว้ พญาแถนจึงขอยอมแพ้ และขอมอบถวายบ้านเมืองให้ และสัญญาว่าจะส่ง น้ำฝนลงมาให้ตามฤดูกาลดังเดิม และจะลงมาปลูกพันธุ์ข้าวทิพย์ลูกเท่ามะพร้าวให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พอถึงฤดูกาลทำนา ฝนก็ตกลงมายังให้ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดินเป็นประจำทุกปี

พญาคันคาก ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ถือศีลภาวนา สร้างบุญกุศล อยู่มิได้ขาด ทำให้ชาวประชาร่มเย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้แสนปีจึงสวรรคต หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโลกก็ได้อาศัยหนทางที่ พระยาคันคากสร้างไว้ขึ้นไปเรียนเอาเวทย์มนต์คาถาจากพวกพญาแถน เมื่อลงมายังโลกแล้วก็ใช้คาถาอาคมที่ตนเองเรียนมาจากครูบาอาจารย์เดียวกันรบราฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจจนล้มตายเป็นจำนวนมากต่อมาก และพวกมนุษย์ยังพากันเกียจคร้านไม่เอาใจใส่เรือกสวนไร่นา เมื่อข้าวกล้าที่พญาแถนปลูกไว้ตามที่สัญญากับพญาคันคากสุกแก่เต็มที่แล้ว ก็ไม่พากันทำยุ้งฉางไว้ใส่ มิหนำซ้ำ ยังพากันโกรธแค้นที่ให้เมล็ดข้าวเมล็ดใหญ่จนเกินไปเท่าลูกมะพร้าว จึงช่วยกันสับฟัน จนแตกเป็นเม็ดเล็ก เม็ดน้อย เมล็ดข้าวจึงกลายเป็นเมล็ดเล็กๆ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ จากนั้นมาข้าวจึงไม่เกิดเอง มนุษย์ต้องหว่าน ไถ ปัก ดำ จึงจะได้ข้าวมากิน เมื่อพญาแถนเห็นชาวโลกละเลยศีลธรรม ไม่ตั้ง ตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม พญาแถนจึงทำลายเส้นทางติดต่อระหว่างชาวโลกกับพวกแถนเสีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวโลกจึงไม่อาจขึ้นไปยังเมืองฟ้าพญาแถนได้อีก และได้สั่งให้เหล่ามนุษย์ทราบว่า ถ้าต้องการให้ฝนตก ให้จุดบั้งไฟในเดือนหก เพื่อเป็นสัญญาณเตือให้พญาแถนได้เปิดประตูให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำ เพื่อพ่นน้ำลงมายังเมืองมนุษย์"

นิทานปรัมปราที่นักวิชาการทางด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ได้มองข้ามไม่ให้ความสำคัญต่อการตีความในอดีตนี้ เป็นการบันทึกวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมวัฒนธรรมผี ทีต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติ ที่สามารถอธิบายตามหลัวิทยาศาสตร์ได้ คือ เมื่อถึงเดือนสี่ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของจารีตสิบสองเดือน หรือฮีตสิบสองคนทั่วไปในสังคมสยามบนหรือเสียมกุก ก็จะทำบุญข้าวจี่ หรือบางพื้นที่เรียกว่า บุญข้าวปุ้น ซึ่งในประเพณีบุญข้าวจี่เป็นการนำเสนอการแปรรูปข้าวในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้าวจ้าวแดงก็นำมาทำข้าวปุ้นหรือขนมจีน ที่มีน้ำยาในรูปแบบต่างๆ ข้าวจี่ที่ประยุกต์ให้เหมาะสมและดีที่สุด ขนมเปียกปูน ข้าวต้มมัด และขนมอื่นๆ มาประชันกันที่วัดหรือมาทำบุญ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการแปรรูปข้าว พอถึงเดือนห้า เป็นการเริ่มต้นปีแห่งการผลิตใหม่หรือขึ้นปีใหม่ซึ่งทุกคนจะรู้ว่าต้องร่วมกันทำประเพณีสงกรานต์ คือการเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการราดน้ำ เมื่อราดน้ำลงพื้นที่ร้อนและแล้ง จะทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอ ความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น พอถึงเดือนหก เป็นบุญบั้งไฟ ที่ทุกคนจะมารวมกันร่วมส่งสัญญาณถึงพญาแถนในการขอฝน ด้วยการจุดบั้งไฟขึ้นไปยังแมืองแถน ซึ่งความจริงแล้วเป็นกุศโลบายให้เกิดหมอกควันเกลือจากควันบั้งไฟกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้ละอองควันเกลือได้ดูดความชื้นเข้ามาเป็นเม็ดฝน และตกลงมายังพื้นดิน เมื่อดินได้รับน้ำจากทั้งฟ้า ก็จะเกิดความชุ่มชื้น และอากาศก็เย็นลง ซึ่งทำให้เกิดฝนตกตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง พอที่จะทำให้ชาวนาสยามบนหรือเสียมกุกได้ทำนาปลูกข้าว

สาระสำคัญของนิทานชาดกนอกณิบาต หรือนิทานปรัมปราเหล่านี้ นักวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยมักจะพยายามอ้างว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าพญาแถนมีอยู่จริง พญานาคมีอยู่จริง เป็นเพียงจินตนาการ ซึ่งจะเชื่อเอาเป็นสาระไม่ได้ อย่างที่นักวิชาการไทยบางกลุ่มมักสรุปเอาง่ายๆ ซึ่งก็เป็นเป็นการมองข้ามคุณค่าในการถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมของคนสยามบนหรือเสียมกุกมากจนเกินไป ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นกุศโลบายที่เป็นประเพณีให้คนในสังคมสยามโคกได้ร่วมกันปฏิบัติอย่างพร้อมเพียงและตามฤดูกาล เพื่อสร่งเสริมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ให้ตอบสนองเป็นไปตามฤดู และเหมาะสมกับวิถีการผลิตเพื่อการดำรงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

ซึ่งหากจะวิเคราะห์ตามหลักของไตรภูมิ ที่ว่าด้วยเรื่องสวรรค์แล้ว สวรรค์ถูกแบ่งออกเป็น 6 ชั้น คือ จตุมหาราชิกา (สวรรค์ ชั้นที่ 1) ดาวดึงส์ (สวรรค์ ชั้นที่ 2) ยามา  (สวรรค์ ชั้นที่ 3) ดุสิต (สวรรค์ ชั้นที่ 4) นิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 5) ปรนิมมิตวสวัตตี (สวรรค์ ชั้นที่ 6) ซึ่งสามารถจำแนกได้สองฐานภูมิ คือ รูปภูมิ กับ จิตภูมิ รูปภูมิมีสวรรค์อยู่เพียงชั้นเดียว คือ จตุมหาราชิกา ส่วนจิตภูมิ มีห้าชั้น ซึ่งจะไม่ขอวิเคราะห์หรือเอ่ยถึงในที่นี้

สวรรค์ในชั้นจตุมหาราชิกา (สวรรค์ ชั้นที่ 1) เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช 4  พระองค์ปกครอง คือ ท้าวธตรัฐมหาราช หมายถึงธาตุทั้งห้า ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุรู้ซึ่งธาตุรู้จะเป็นองค์ประกอบในสวรรค์ชั้นจิตภูมิต่อไป ท้าววิรุฬหกมหาราช หมายถึง หน้าที่ ตามคุณสมบัติและกฏในธรรมชาติ ท้าววิรูปักษ์มหาราช หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมภายใต้กฏของธรรมชาติ ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวร) หมายถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ โดยสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ ท้าวมหาราช 4 พระองค์ผู้ปกครองในทิศต่างๆ ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากท้าวกุมพัน(แปลว่าสีเขียว) ซึ่งหมายถึง กฏแห่งธรรมชาติของนิเวศน์ของโลกทั้งหมด ซึ่งข้อสรุปสั้นๆ ผู้เขียนได้ตีความจากคำแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจ แล้วไปตีความตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า จารีตสิบสองเดือนหรือฮีตสิบสอง เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนอย่างบูรณาการณ์ ภายใต้กฏเกณฑ์ทางธรรมชาติให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอุดมสมบูรณ์ มีความสุขอย่างมั่นคง ยั่งยืน