In News
เผยผลคกก.ศึกษาแนวทางทำประชามติ ความเห็นแก้รัฐธรรมนูญฉบับคสช.
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย ครม. พิจารณารายงานผลการดำเนินงานของ คกก. เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
วันนี้ (23 เม.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (23 เมษายน 2567) พิจารณารายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คกก.ฯ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ สามารถสรุปผลการพิจารณาได้ 2 ประเด็น
1.การจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ และการทำประชามติ คกก.ฯ ให้ความเห็นว่า การจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ที่จะเป็นไปโดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยจองศาลรัฐธรรมนูญนั้น ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมี รธน. ฉบับใหม่หรือไม่ จึงเห็นควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ (1) การทำประชามติครั้งที่ 1 ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ (2) การทำประชามติครั้งที่ 2 เป็นการทำประชามติในขั้นตอนการร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 256) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ และ (3) การทำประชามติครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติเมื่อร่าง รธน. ฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่าง รธน. ฉบับใหม่ โดยการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ควรกำหนดคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรกำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่าง รธน. เป็นผู้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่ และไม่ควรเป็นผู้พิจารณาจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน. แต่ควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการเมื่อถึงขั้นตอนการร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 256)
2.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 คกก.ฯ มีข้อห่วงใยเพิ่มเติมโดยเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตรง โดยเห็นควรให้แก้ไขในประเด็นต่าง ๆ เช่น กำหนดแบ่งประเภทให้มีการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อมีข้อยุติ และการออกเสียงประชามติที่มีลักษณธเพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่ ครม. เป็นต้น