EDU & Tech-Innovation

วว.โดยสถานีวิจัยฯสะแกราช-พันธมิตรจัด ช่วงปิดเทอมผลิต'นักปักษีวิทยารุ่นเยาว์1'



กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  จังหวัดนครราชสีมา  ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เชิญชวนน้องๆ อายุ 13-19 ปี และผู้ปกครอง เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเพื่อผลิต“นักปักษีวิทยารุ่นเยาว์” รุ่นที่ 1ในช่วงปิดเทอม  หลักสูตรเข้มข้นระยะเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่  1-10 พฤษภาคม 2567กิจกรรมประกอบด้วยการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการด้านปักษีวิทยา และการฝึกปฏิบัติจำแนกชนิดนกจริงในภาคสนาม การวิจัยนก และการเสวนา/ถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านนกของเมืองไทย เพื่อสร้างนักปักษีวิทยาและส่งเสริมการอนุรักษ์นกอย่างใกล้ชิดในธรรมชาติประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ อาทิ รู้จักนกและพฤติกรรมของนก   สำรวจนกตามถิ่นอาศัย  งานวิจัยนิเวศวิทยาของนก  และการอนุรักษ์นก เป็นต้น

ทั้งนี้  สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกทำหน้าที่ดำเนินการอนุรักษ์ พัฒนา และการสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายนานาชาติทั่วโลกมีพื้นที่ประมาณ 78 ตารางกิโลเมตร (48,800 ไร่)  โดย วว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีความหลากหลายชีวภาพของชนิดพันธุ์พืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดรา  มีสัตว์ 486 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 79  ชนิด  สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 29 ชนิด  สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles)  88  ชนิด  นกและสัตว์ปีก 290 ชนิด โดยมี “ไก่ฟ้าพญาลอ” นกประจำชาติไทยเป็นจุดเด่นซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ด้วย

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดปีละ 146,059 ตัน  ประกอบด้วย 1) ป่าดิบแล้ง พื้นที่ 26,474 ไร่ ดูดซับได้ 3.26 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ 86,305 ตัน 2) ป่าเต็งรัง พื้นที่ 7,373 ไร่ ดูดซับ 2.84 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ 20,939 ตัน  และ 3) ป่าปลูก พื้นที่ 12,028 ไร่ ดูดซับได้ 3.23 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ 38,850 ตัน

นอกจากนี้ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมในภารกิจต่างๆได้แก่  1) เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง)  2) เป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อศึกษาและวิจัยทางด้านธรรมชาติของป่าไม้ นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบของพื้นที่ยังมีหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ที่อยู่กับป่าไม้ได้อย่างสมดุลซึ่งเป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจกับป่าไม้ได้อีกด้านหนึ่ง3)เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนหย่อนใจ ทางด้านธรรมชาติและ 4) เป็นศูนย์การประชุมและสัมมนา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว.ได้ที่ เลขที่ 1 หมู่ 9 ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370  ได้ที่ โทร. 098 219 5570  เว็บไซต์: www.tistr.or.th/sakaerat  อีเมล sakaerat@tistr.or.th