In Global

'กูรูไทย-จีน'ชี้เหตุ'ไทยขาดดุลการค้าจีน' รัฐฯไร้มาตรการและเสริมแกร่งธุรกิจไทย



กรุงเทพฯ-สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีนร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มรภ.พระนคร จัดเสวนา“ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท แก้อย่างให้ได้ผล” กูรูไทย-จีนชี้ตรงกัน เกิดจากธุรกิจของไทยขาดมาตรการการปกป้องและการพัฒนาที่ดีและทุนจากภาครัฐ ทำให้ธุรกิจไทยไม่ทันเกมและเสียเปรียบต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจผ่านออนไลน์ “ต่างชาติเข้าง่าย แต่ไทยเข้ายาก”

สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีนร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้จัดเสวนาเรื่อง “ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท แก้อย่างให้ได้ผล” โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชียวชาญในด้านการค้าไทย-จีนร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย-จีน นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ พรรรคก้าวไกลและนายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผศ.กัลยา นาคลังกา ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและนายอนพัทย์ พัฒนวงศ์วรัณ อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีนผู้ดำเนินรายการ โดยมี ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ พหลภาคย์ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ เป็นผู้กล่าวเปิดเสวนา

นายณรงค์ศักดิ์ ได้เปิดประเด็นในเรื่องนี้ว่า  โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในปี2566 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม 59.35% สินค้าเกษตรกรรม32.96% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสัดส่วน 5.96% สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 1.74% ส่วนโครงสร้างการนำเข้าจากประเทศจีน ส่วนใหญ่ 37.42% เป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 34.20%เป็นสินค้าทุน 18.95 เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 6.69 เป็นยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 2.3%เป็นอาวุธยุทธปัจจัยและ0.45 เป็นสินค้าเชื้อเพลิง

“การแก้ปัญหาการค้าไทย-จีน ด้ายการดึงนักธุรกิจจีนมาร่วมธุรกิจการค้าในไทยอย่างถูกกฎหมายในสัดส่วนไทย 51:49จะดีมาก ได้เงินลงทุนจากฝ่ายจีน ได้ขยายตลาดจีน และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยจากจีน”นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

นายปารเมศ ได้มองเรื่องนี้ว่า ในปัจบันสินค้าจีนราคาถูกแต่คุณภาพดีขึ้น กว่าก่อนที่เป็นสินค้าลอกเลียนแบบคุณภาพต่ำ เดียวนี้มีแบรนด์ของตนเอง มีตั้งแต่เกรดธรรมดาจนถึงเกรดเอบวก และเข้ามาตีตลาดในไทยมากและมีกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีชาวบ้านก็เลือกใช้สินค้าราคาถูก

การที่จีนส่งสินค้าตีตลาดไทยนั้น จะตำหนิจีนไม่ได้ เราต้องหันมองตัวเอง ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทย มีการพัฒนาสินค้า สร้างนวัตกรรม นั่นต้อง มีการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน ต้องสร้างหรือผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติอย่างน้อย 50% ซึ่งเรื่องนี้ไทยยังช้า แม้จะมีบทเรียนมาแล้ว ซึ่งเราต้องมองอนาคตในระยะยาว

อีกเรื่องการร่วมทุนจดทะเบียนบริษัทพบว่า เป็น “นอมินี”มากมาย ไทยยังขาดหน่วยงานในการตรวจสอบ ต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้ มีระบบตรวจสอบที่โปร่งใส กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบันดูเหมือนมีหน้าที่แค่เพียงรับจดทะเบียนบริษัท แต่ไม่ได้ตรวจสอบ อย่างล่าสุดมี2คนไทยร่วมถือหุ้นในเกือบ 300 บริษัทและที่ยังตรวจไมพบอีกมากมาย

“ปัจจุบันคนไทยอยากเปิดร้านในเถาเป่า (TaoBaoแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ของจีน)ยากมาก แต่ต่างชาติเปิดในไทยง่ายมาก ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง เรื่องนี้รัฐฯต้องมีมาตรการปกป้องช่วยเหลือ SMEไทยอย่างเข้มแข็งและรัดกุม เอาจริงเอาจังเรื่องยืนยันตัวตนตอนจดทะเบียนพาณิชย์”นายปารเมศกล่าวและว่า

ที่สำคัญปัจจุบันสินค้าจากต่างประเทศไม่ต้องมีมอก.ร่วมทั้งของกินจากจีนที่วางขายกลางเยาวราช กลับกันสินค้าไทยต้องขออนุญาตมากมา ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเช่นปัจจุบัน

ด้านผศ.กัลยา มองว่า การค้าไทย-จีน เกิดการขาดดุลมากอาจเพราะรัฐบาลไม่วางนโยบายรองรับให้ดี เมื่อปล่อยให้เกิดการค้าเสรีขึ้น ตัวเกษตรกรไทย หรือองค์กรท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมรับมือกับรูปแบบการค้าจากจีน มองด้านเกษตร เช่น ชาวสวนลำไย เคยมีความหวังมากต่อการส่งผลผลิตสู่ผู้บริโภคจีน จึงมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพิ่มผลผลิต แต่สุดท้ายก็ให้ลังจีนเข้ามากำหนดราคาแทนล้งไทยในท้องถิ่นที่ทุนกว่า สู้พ่อค้าจีนไม่ได้ สุดท้ายล้งจีนเป็นผู้กำหนดราคา

“หรือสินค้าเกษตรไทยส่งออกแต่เป็นการขายผ่านคนจีนจะเห็นว่า ผลไม้ไทยอย่างทุเรียนคนจีนไลฟ์สด ซื้อถูกขายแพง ขณะที่เกษตรกรไทยพัมนาด้านนี้ไปอย่างช้ามาก ดังนั้นเกษตรกรไทยหรือSME ไทยต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทยเพื่อคนไทยให้สามารถสู้กับต่างประเทศ”ผศ.กัลยา กล่าว

นายจิรบูลย์  กล่าวว่า การขาดดุลจีนนั้นไทยสูงเป็นอันดับ1 ของกลุ่มอาเซียน ประเทศอื่นมีการตั้งรับและแก้ไขปัญหา บางประเทศมีการสร้างเงื่อนไขโดยไม่ละเมิดกฎองค์การการค้าโลก WTO เป็นการสร้างกำแพงโดยไม่ผิดกฎหมาย อาทิ กลุ่มมุสลิมเอาศาสนาเป็นข้ออ้าง อินโดนีเซีย มีมาตรการปกป้องเกษตรกร เช่น ฤดูที่ผลผลิตออกห้ามนำเข้าไปขาย และรัฐบาลอินโดฯไม่ส่งเสริมการค้าออนไลน์

ปี2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 40ล้านคน ปี2567 ตั้งเป้า 35ล้านคน น่าจะใกล้เคียงเป้าหมาย เฉาะจีนในช่วง 1มกราคม-16เมษายน 2567เข้ามาแล้ว 2 ล้านคนใกล้เคียงเป้า 8ล้านคน หวังว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญจะไม่กลับมาเพราะคนไทยไม่ได้ประโยชน์เลย อย่างไรก็ตามรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่คาดหมายไว้หลายแสนล้านบาทก็ไม่อาจเอามาหักตัวเลขขาดดุลการค้า เพราะเป็นคนละบัญชี

“ถึงเวลาที่ต้องเปิดศักราช Business Matching ร่วมทุนจากธุรกิจไทย 51:49 อย่างถูกกฎหมาย ในแผนพัฒนาฉบับที่14 ของจีน เน้นเรื่องพลังงานสะอาด จีนมีโอกาสย้ายฐานผลิตมาไทยสูงมาก เราจะรับมืออย่างไร ระวังสินค้าจีนจะมาเปลี่ยนกล่องว่า ผลิตในไทยแล้วส่งขายต่างประเทศ”นายจิรบูลย์กล่าว