Authority & Harm

ชี้แก้ปัญหาน้ำเค็มคลองประเวศยังไม่จบ เหตุน้ำจืดไม่สูงพอ/แก้น้ำเค็มรุกล่าช้า



ฉะเชิงเทรา-ยังมีอุปสรรคในพื้นที่ตอนล่างใต้ลำคลองประเวศบุรีรมย์จากระดับน้ำจืดไม่สูงเพียงพอไหลได้เองตามธรรมชาติ ทำการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำล่าช้า ขณะชลประทานเร่งตั้งทำนบดินขวางปากคลองวางเครื่องสูบผลักดันน้ำจืดเข้าทดแทนในคลองสาขาสายใหญ่ 2 เส้นทาง ใกล้กับแนวขนานแม่น้ำบางปะกง ยันพื้นที่ทางตอนบนในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา น้ำจืดลงแล้ว

วันที่ 30 เม.ย.67 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายณัฐวุฒิ สินธุวงษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ถึงสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่ลำคลองประเวศบุรีรมย์ หลังจากเขื่อนทำนบดินปิดกั้นน้ำเค็มบริเวณปากคลองภายในไซด์งานก่อสร้างขยายสถานีสูบระบายน้ำท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา แตกเมื่อเวลา 19.30 น. ของวันที่ 9 เม.ย.67 ที่ผ่านมา จนทำให้หน่วยงานหลายระดับต่างเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยว่า 

ขณะนี้การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ทางตอนบน ที่ได้รับผลกระทบทางด้านน้ำอุปโภคบริโภคจากโครงการประปาหมู่บ้านไม่สามารถผลิตได้นั้น ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว เช่น ใน ต.หนามแดง ต.คลองเปรง อ.เมืองฉะเชิงเทรา หลังจากได้มีการระดมนำรถบรรทุกน้ำจาก กปภ.เขต 2 จำนวนกว่า 2 ล้านลิตรเข้าไปแจกจ่ายช่วยเหลือ และมีการปิดกั้นปากคลองเพื่อสูบน้ำเค็มออก และรับน้ำจืดเข้ามาเจือจางจากแหล่งน้ำทางตอนบน แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของกลิ่นบ้าง และมาตรฐานยังอาจไม่ได้ตรงตามที่กำหนดในบางจุดในการผลิตน้ำปะปา โดยอาจต้องรอการปรับสภาพน้ำอีกประมาณ 2 วันจึงน่าจะผลิตประปาหมู่บ้านได้ทั้งหมด

ส่วนสถานการณ์ทางตอนใต้ของลำคลองประเวศ ซึ่ง ประกอบด้วยคลองขุนพิทักษ์ตอนปลาย คลองลาดขวาง คลองแสนภูดาษ อ.บ้านโพธิ์ คลองจางวาง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ยังคงมีค่าความเค็มสูงมากกว่า 10 กรัมต่อลิตร เนื่องจากอยู่ใกล้กับแนวของแม่น้ำบางปะกง และสภาพพื้นที่มีความลาดเอียง ระดับน้ำจืดที่ได้รับมาจากทางตอนบนจึงยังไม่สูงมากพอที่จะปล่อยให้ไหลเข้าไปเองตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะที่ ต.หนองจอก อ.บางปะกง นั้นยังคงมีผลกระทบมากจึงต้องใช้วิธีสูบส่ง ขณะนี้จึงได้นำเครื่องจักรกลงานหนัก (แบ๊คโฮ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา ที่กำลังขุดลอกคลองอยู่ในบริเวณนี้ เข้ามาทำการช่วยตั้งทำนบดินปิดกั้นปากคลองสาขาคลองประเวศบุรีรมย์ จำนวน 2 สาย คือคลองขุนพิทักษ์ และคลองแขวงกลั่นตอนล่าง ที่เชื่อมไปยัง อ.บางปะกง เพื่อทำการตั้งเครื่องสูบน้ำจืดที่เจือจางลงแล้วในลำคลองประเวศ 

โดยมีค่าความเค็มที่ 4 กรัมต่อลิตร เข้าไปยังในลำคลองขุนพิทักษ์ และคลองแขวงกลั่นล่าง เพื่อเร่งทำการเจือจางให้ระดับค่าความเค็มลดลง โดยจะมีการวางเครื่องสูบขนาด 2 ลบม.ต่อวินาทีจำนวน 1 เครื่องทั้ง 2 จุด ที่จะสามารถสูบส่งน้ำได้ประมาณ 140,000 ลบม.ต่อวัน และจะมีการลูบทอยลงไปยังคลองสำโรงเพื่อเร่งผลักดันน้ำเค็มไปยังทะเล 

ส่วนในภาพรวมนั้น ขณะนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ยังได้รับการสนับสนุนน้ำจืดมาจากทางตอนบน คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และลุ่มน้ำเจ้าพระยาผ่านมาทางคลองรังสิต ระบายผ่านมายังบึงฝรั่งในเขตหนอกจอก กทม. เข้ามายังคลองประองค์ไชยานุชิต และเข้าสู่คลองประเวศตามลำดับ วันละประมาณ 2 ล้าน ลบม. เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้น้ำเค็มที่รุกล้ำอยู่ในลำคลองสาขาทางตอนล่างได้เจือจางลงต่อไป นายณัฐวุฒิ กล่าว

และกล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังค่าความเค็มในลำคลองลดระดับลงบ้างแล้ว ที่ปริมาณ 5-7 กรัมต่อลิตร เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และปลากะพงขาว ที่ต้องการใช้น้ำที่มีค่าความเค็ม 5-7 กรัมต่อลิตร ยังได้ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส ในการที่ต่างพากันช่วยระดมสูบน้ำเค็มขึ้นไปใช้ในการประกอบอาชีพอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ ที่ปกติแล้วต้องซื้อน้ำเค็มจากรถบรรทุกน้ำ นำเข้ามาเติมลงในบ่อเลี้ยง นายณัฐวุฒิ ระบุ 

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่รอยต่อระหว่าง ม.5 ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กับหมู่ 4 ต.คลองนิยมยาตรา อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ว่า ยังคงมีลำคลองสาขาขนาดเล็กที่แยกออกมาจากคลองพระยาสมุทร เชื่อมไปยังตลาดคลองสวน 100 ปี นั้นยังคงมีสภาพความเค็มตกค้างอยู่มาก เหตุจากภายในลำคลองมีการขุดตั้งทำนบตินเพื่อชะลอภัยแล้งขวางลำคลองไว้ เมื่อน้ำเค็มทะลักเข้ามามากจึงทำให้ท่วมล้นข้ามทำนบเข้าไปยังภายในลำคลอง แต่เมื่อเวลามีการสูบระบายน้ำออกจากคลองภายนอก น้ำเค็มที่ถูกกักอยู่ด้านหลังทำนบจึงยังคงถูกขังอยู่ภายในตามเดิมไม่สามารถไหลออกไปได้ จึงยังคงมีสภาพวัชพืชเน่าเสียให้เห็นอยู่

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา