Authority & Harm
ผู้การฯกาฬสินธุ์สั่งเข้มดูแล'อธิบดีโยธาฯ' หลังสั่งยกเลิกโครงการ7ชั่วโคตร
กาฬสินธุ์-"ผู้การฯกาฬสินธุ์" สั่งจัดชุดเฉพาะกิจ-สายตรวจ ตั้งด่านตรวจเข้ม กวดขันจับอาวุธและสิ่งผิดกฎหมาย ในหลายพื้นที่เมืองน้ำดำ ป้องกันเหตุไม่ชอบมาพากล ภายหลัง "อธิบดีกรมโยธาฯ" ลงมาตรวจ 8 โครงการก่อสร้างฯ มูลค่างบประมาณกว่า 500 ล้านบาท จนพบหลักฐานทุกจุดทิ้งงานไม่ก่อสร้างมาแล้วหลายเดือน สั่งเลิกสัญญาตามขั้นตอน จึงอาจทำให้ผู้สูญเสียประโยชน์บางกลุ่ม ไม่พอใจเริ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ ขณะที่การแก้ไขไม่ชัดเจน เครือข่าย ปปท.ภาค 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เตรียมลงพื้นที่สอดส่อง เก็บขอมูลความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณทั้ง 8 โครงการ ชงผู้ตรวจการแผ่นดิน กมธ.ปปช.-ปปง. และ กมธ.การเงินการคลัง ตรวจสอบต่อไป
กรณีการตรวจสอบ 8 โปรเจกต์ยักษ์ โครงการก่อสร้างตลิ่งป้องกันน้ำท่วมเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหาผู้รับเหมา 2 รายใหญ่ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับงานมาตั้งแต่ปี 2562-2565 พบว่าก่อสร้างไม่เสร็จ มีการขยายสัญญาให้ค่าปรับเป็น 0 บาท แต่ก็ยังไม่ทำการก่อสร้าง ซึ่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นติดตามแก้ปัญหาที่ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 และอีกครั้งในปี 2567 ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าไม่มีอะไรดีขึ้น ผู้รับเหมา 2 หจก. ไม่ก่อสร้าง มีพฤติกรรมทิ้งงาน สร้างปัญหาให้กับประชาชน และมีคำสั่งยกเลิกงานกับ 2 หจก.จะมีผลให้ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ ห้ามประมูลงานกรมโยธาฯ และทุกส่วนราชการ และต้องจ่ายค่าเสียหายตามกฎหมายกำหนด ที่ชาวบ้านยังรอฟังการแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนและกลุ่มตัวแทนชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เริ่มใจตุ้มๆต่อมๆ เนื่องจากมีกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาขาใหญ่ เข้ามาดูพื้นที่และอ้างว่าจะทำงานใหม่ บางพื้นที่มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเข้ามา ทำให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนสงสัยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ยกเลิกการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ทั้ง 8 โครงการจริงหรือไม่ ทำให้ชาบ้านยังคงเฝ้ารอเอกสารคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความสบายใจ และพร้อมเคลื่อนไหวทันทีหากไม่มีการยกเลิกโครงการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจริง
นายประหยัด เรเชียงแสน ข้าราชการบำนาญ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน จากโครงการวางระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้าน กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นรถแบ็คโฮมาจอดไว้ที่หน้าบ้านเพิ่มอีก 1 คัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรถแบ็คโฮของผู้รับเหมาจอดทิ้งไว้นานแรมปี โดยไม่เคลื่อนย้ายไปไหน เป็นเหมือนหนามทิ่มตำใจให้ตนและชาวบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการในย่านนี้เจ็บปวดใจ เพราะทั้งกีดขวางหน้าร้านและกีดขวางการจราจร ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จะค้าขายหรือจะปลูกสร้างห้องแถวก็ไม่ได้ เพราะมีรถแบ็คโฮ กองวัสดุและท่อระบายน้ำ วางระเกะระกะเต็มไปหมด หลังจากสิ่งที่เห็นรถแบ็คโฮมาเพิ่มอีก 1 คัน ทำให้ตนและชาวบ้านเกิดความสงสัยและไม่สบายใจ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะเท่าที่ทราบอธิบดีกรมโยธาฯ ได้พูดไว้ชัดเจนในวันที่มาลงพื้นที่ดูปัญหาด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าทางกรมโยธาฯ จะยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายเดิมที่มีปัญหาทิ้งงาน แต่เมื่อวานนี้กลับมีคนงาน 2 คน อ้างว่าเป็นคนงานของบริษัทรับเหมา บอกกับตนว่าจะมาทำงานต่อ และต่อมาได้นำรถแบ็คโฮมาจอดหน้างาน จากนั้นเคลื่อนรถแบ็คโฮไปขุดเปิดทางน้ำริมถนนเยื้องห้างโลตัส ก่อนที่จะจอดทิ้งไว้อีก พฤติกรรมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมากว่า 1 ปี ที่พอมีการร้องเรียนหรือออกข่าวที ก็จะมีคนงานมาขับรถแบ็คโฮไปทำงาน ขุดดินได้งานนิดหน่อยก็จอดนิ่งอีก จึงทำให้ตนและเพื่อนบ้านมึนงงและสับสนไปหมด ว่ามันเกิดอะไรขึ้น จึงได้แจ้งเหตุการณ์ให้ทางเครือข่ายธรรมาภิบาลกาฬสินธุ์ได้ทราบเรื่อง เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป
ด้านนายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าหลังได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่ามีรถแบ็คโฮเข้ามาจอดและทำงานหน้างานโครงการก่อสร้าง งบ 148 ล้าน และทั้งหมด 8 โครงการที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นช่วงที่รอความชัดเจนจากทางกรมโยธาฯ ว่าจะประกาศยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาทั้ง 2 รายจริงหรือไม่ ตนและเครือข่ายธรรมภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมการตรวจเช็คและสอบถามไปทางสำนักงานโยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ก็ได้ทราบคำตอบว่า ตามที่มีรถแบ็คโฮมาทำงาน ที่บริเวณถนนพร้อมพรรณนั้น เป็นการดำเนินการแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่นับจากนี้เพื่อรอความชัดเจน เครือข่าย ปปท.ภาค 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลปริมาณงานในการเบิกจ่ายของแต่ละโครงการ เพื่อเตรียมข้อมูลให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กมธ.ปปช.-ปปง. และ กมธ.การเงินการคลัง ทำการตรวจสอบต่อไป
ขณะที่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ที่จุดบริการประชาชนตู้ยามบัวบาน ถนนสายปากทาง-เขื่อนลำปาว พ.ต.อ.ภาสกร มหาวงค์นันท์ ผกก.สภ.นากุง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้ พ.ต.ท.นวรัตน์ โคตรแสนเมือง สวป.ฯ นำข้าราชการตำรวจ สภ.นากุง จำนวน 13 นาย ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ป้องกันการลักลอบขนลำเลียงยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย ป้องกันวัยรุ่นมั่วสุมนำรถจักรยานยนต์ดัดแปลงแต่งซิ่งมาใช้ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น รวมทั้งตรวจค้นบุคคลแปลกหน้า การป้องกันการพกพาอาวุธปืน เพื่อป้องกันเหตุร้าย โดยเฉพะในช่วงนี้ประชาชนได้ออกมาเรียกต่อสู้ทวงคืนความเป็นธรรมเงินภาษีประชาชน ในการก่อสร้างตลิ่งป้องกันน้ำท่วม และกรมโยธาธิการฯ กำลังดำเนินการยกเลิกสัญญา จึงทำให้ผู้สูญเสียผลประโยชน์ไม่พอใจเริ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่
พ.ต.ท.นวรัตน์ โคตรแสนเมือง สวป.สภ.นากุง กล่าวว่า ตามนโยบาย พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ที่ได้มีมาตรการป้องกันเหตุร้าย การก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบ ให้โรงพักทั้ง 23 สถานีดำเนินการอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการป้องกัน รักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน สำหรับ สภ.นากุง ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ภาสกร มหาวงค์นันท์ ผกก.สภ.นากุง จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ ตั้งจุดสกัดและอำนวยความสะดวกในคืนนี้ เบื้องต้นผลการตรวจสอบ พบว่ามีนักท่องเที่ยว คนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อาจจะมีผู้ไม่หวังดี หรือมิจฉาชีพ แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ หรือฉวยโอกาสก่อเหตุอาชญากรรมก็อาจเป็นไปได้ เพื่อความไม่ประมาทและให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ ว่าได้รับการคุ้มกันภัยอย่างทั่วถึง ครอบคลุมที่สุด นอกจากจะมีการตั้งด่านจราจรและคนสัญจรที่เข้ามาในพื้นที่ ทั้งภาคกลางวันและกลางคืนแล้ว ยังได้เคาะประตูบ้าน ร้านค้า สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านและผู้ประกอบการร้านค้าอีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบเหตุผิดปกติ ทั้งนี้ หากผู้นำชุมชน ประชาชน พบเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย มีบุคคลแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน สามารถแจ้งที่ 191 หรือโทร 043-840977 เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มาตรวจสอบทันที” พ.ต.ท.นวรัตน์กล่าว