EDU Research & ESG

๑๐๑ปีคล้ายวันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์



กรุงเทพฯ-สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดลณ อยุธยา) ทรงเป็นสมเด็จพระโสธรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘  และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙  และทรงเป็นพระปิตุฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

ตลอดพระชนมชีพทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกทั้งยังทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์ส่วนพระองค์อีกหลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์  การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนาและอื่นๆ ทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน การกีฬา และด้านการถ่ายภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ ทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่งแม้กระทั่งองค์การยูเนสโก้(UNESCO)ก็ได้มีมติประกาศยกย่องให้ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ปี วันประสูติ วันที่ ๖พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ที่ผ่านมา

ทรงรับสืบสานงานทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยทรงมีรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า “คุ้นเคยกับงานทางด้านนี้ดี เพราะตามแม่ออกไปทำงานออกหน่วยเคลื่อนที่ตลอดเวลา”อีกทั้งยังทรงรักการสอนมาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อนิวัติประเทศไทยยังได้ทรงทำงานเป็นพระอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี ) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆทุกครั้งที่โดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีออกตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์พอ.สว.จะเสด็จเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพระราชทานคำแนะนำด้านการสอน ให้กำลังใจครู และพระราชทานอุปกรณ์การเรียนการสอน

ด้วยสำเร็จการศึกษาทางด้านเคมี จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงทรงเล็งเห็นความสำคัญของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ว่า มีส่วนในการสร้างสันติภาพการขจัดความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจและ

สังคม จึงทรงสนับสนุนให้มีนโยบายระยะยาวด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศและเพื่อการพัฒนา โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับโลก

ทรงรับสั่งได้หลายภาษา ทำให้ทรงมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรงเป็นนักอ่าน นักเขียน โดยได้ทรงแปลและเรียบเรียงหนังสือในหลากหลายประเภท ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังทรงให้การสนับสนุนวงดนตรีและการแสดงของไทยในท้องถิ่น เช่น คณะหุ่นกระบอกโจหลุยส์ ซึ่งช่วยอนุรักษ์ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกเล็กของไทย ทรงจัดตั้งกองทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก ให้การสนับสนุนนักดนตรีไทยในการศึกษาต่อ และส่งเสริมการแข่งขันและการแสดงคอนเสิร์ตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อุปถัมภ์ของโรงละครโอเปร่ากรุงเทพ รวมทั้ง สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

ในวาระครบรอบ ๑๐๑ ปีวันคล้ายวันประสูติ ปวงเหล่าพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปประการเพื่อความสุขของปวงชนชาวไทยตลอดพระชนม์ชีพ