Authority & Harm

สงขลาขยะล้นเมืองชาวบ้านใกล้บ่อขยะ ทต.เกาะแต้วฯจี้ให้ปิดบ่อทนกลิ่นไม่ไหว



 สงขลา-วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ชาวบ้านเกาะแต้ว ประท้วงปิดบ่อขยะ พร้อมขึ้นป้าย ทต.เกาะแต้วไม่เอาขยะหาดใหญ่ วอนทุกฝ่ายเห็นใจทนมานานร่วม 30 ปี ก่อนผูัว่าฯเป็นองค์ประชุมหาข้อยุติ ขณะที่นายกรอเซ็ง รุดชี้แจงข้อยุติแก่ตัวแทนชาวบ้าน

ตัวแทนชาวบ้านตำบลเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะของเทศบาลนครสงขลา เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องทนต่อกลิ่นเหม็นรบกวนมานานร่วม 30 ปี โดยที่ทางเทศบาลนครสงขลาไม่ทำตามที่เคยพูดคุยกันไว้ในอดีต ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลงเอาไว้ กับหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งเทศบาลนครสงขลาได้ให้เทศบาลนครหาดใหญ่และท้องถิ่นอื่นที่นอกเหนือจากการทำ MOU นำขยะมาทิ้งเพิ่มอีกทำให้บ่อขยะเกาะแต้วต้องรองรับขยะจากหน่วยงานต่างๆร่วม 30 หน่วยงาน โดยมีขยะที่นำมาทิ้งที่นี่ประมาณ 290 ตันต่อวัน จากเดิมที่มีอยู่เพียงนครสงขลา เกาะแต้ว เขารูปช้าง พะวง และบริเวณใกล้เคียงจนเกินศักยภาพจากบ่อขยะกลายเป็นภูเขาขยะ จนชาวบ้านยอมรับสภาพไม่ได้ จึงออกมาขึ้นป้ายประท้วงเทศบาลตำบลเกาะแต้วไม่เอาขยะหาดใหญ่และปิดบ่อขยะที่เกาะแต้วดังกล่าว พร้อมทั้งรอการเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนจากเทศบาลนครสงขลา  ซึ่งต่อมานายรอเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับตัวแทนชาวบ้านที่มารวมตัวประท้วงและปิดบ่อขยะ โดยสรุปหลักใหญ่ๆสองประการ ซึ่งมีการยืนยันจากทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุม โดยทางเทศบาลนครสงขลาในฐานะเจ้าของบ่อได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่าจะไม่ให้นครหาดใหญ่นำขยะมาทิ้งที่นี่ต่อไป ซึ่งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้รับปาก แต่ช่วงนี้ขอมาทิ้งเพียง 3 วันเท่านั้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นผู้รับรองผลการประชุมหาข้อยุติในครั้งนี้ จนชาวบ้านพอใจยอมเปิดบ่อขยะให้รถเทศบาลนำขยะเข้าไปทิ้งในบ่อขยะเกาะแต้วได้ตามปรกติ ณ โรงงานกำจัดวัสดุที่ใช้แล้ว และผลิตปุ๋ยธรรมชาติ บ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา

นายรอเซ็ง ไหรเจริญ  นายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้วกล่าวว่า  วันนี้นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เชิญท้องถิ่นที่มีผลกระทบโดยเฉพาะเทศบาลตำบลเกาะแต้ว เทศบาลเมืองเขารูปช้าง และในส่วนของเทศบาลเมืองสงขลาซึ่งวันนี้มีในส่วนของเทศบาลนครหาดใหญ่เข้ามาร่วมด้วย โดยหาข้อสรุปจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในตำบลเกาะแต้วที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเทศบาลนครสงขลาได้นำขยะจากเทศบาลนครหาดใหญ่มาทิ้งที่บ่อขยะเกาะแต้ว จึงเป็นประเด็นขึ้นมา โดยทางเกาะแต้วเองเคยได้มีการพูดคุยกับเทศบาลนครสงขลามาตลอดว่าขยะต่อไปจะต้องเป็นท้องถิ่นที่อยู่ใน MOU เท่านั้น แต่หลักเกณฑ์ที่วางไวัที่ผ่านมา วันนี้เทศบาลนครสงขลาไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยได้นำขยะจากนครหาดใหญ่มาทิ้งที่บ่อขยะของเกาะแต้ว จึงเป็นฉนวนที่ทำให้ประชาชนตำบลเกาะแต้วมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่เกิดขึ้นโดยการปิดบ่อขยะ แต่เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดทราบข่าว จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าหารือเพื่อพูดคุยหาข้อยุติ โดยมีหลักเกณฑ์ที่พอสรุปได้ว่า ข้อที่หนึ่ง เทศบาลนครสงขลาจะต้องไม่รับขยะจากหาดใหญ่และจากท้องถิ่นอื่นๆที่อยู่นอกเหนือ MOU  ส่วนที่สองเทศบาลนครสงขลาจะต้องบริหารจัดการบ่อขยะให้ถูกต้องตามระบบ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะตำบลเกาะแต้ว ส่วนที่สามเทศบาลนครสงขลาเมื่อเสร็จภารกิจ จะต้องล้างถนนทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องที่สัญจรในถนนเส้นทางดังกล่าว ข้อที่สี่เทศบาลนครสงขลาจะต้องอุดหนุนงบประมาณให้กับเทศบาลตำบลเกาะแต้วในปีงบประมาณ 2568 ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท นี่คือข้อสรุปในการยุติ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นผู้รับรอง จากการประชุมที่ผ่านมา

นายรอเซ็งกล่าวต่อว่า ทั้งนี้บ่อขยะในพื้นที่ตำบลเกาะแต้ว คนเกาะแต้วเจ็บปวดเป็นเวลา 30-40 ปีแล้ว เพราะขยะที่มาที่นี่จะมาจากทุกท้องถิ่นร่วมกว่า 30 ท้องถิ่น ซึ่งคนเกาะแต้วต้องรองรับปัญหากับท้องถิ่นต่างๆ แต่ก็พยายามพูดคุยให้หน่วยงานทร่นับผิดชอบ โดยเฉพาะเทศบาลนครสงขลาดูแลการบริหารจัดการระบบการกำจัดขยะให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ แต่สิ่งที่เรามีความหวังคือขณะนี้เราได้นำเทคโนโลยีโดยเทศบาลตำบลเกาะแต้วร่วมกับองค์การบริหารบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้เอกชนมาลงทุนในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งใช้งบประมาณร่วม 2,250 ล้าน โดยก่อนที่จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจะมีสองส่วนคือ ในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาใช้ในการกำจัดขยะ ซึ่งก็ต้องรองรับกับขยะเมืองไทย ซึ่งเทคโนโลยีจากบริษัททีพีไอที่มาวาง จากการเข้าไปศึกษาและได้เห็นการทำงานของเทคโนโลยีดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ส่วนที่สองที่ได้วางไว้ในเรื่องของเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในเรื่องของทีโออาร์ คือบริษัทเอกชนที่มาประมูล หรือแม้แต่ อบจ.ก็จะต้องมีสถานีขนถ่ายของแต่ละอำเภอที่จะส่งเข้ามาที่นี่ ซึ่งต่อไปรถขยะจะไม่มี นอกจากรถเทลเลอร์ที่บรรทุกเข้ามาในพื้นที่ และถ้าเป็นลักษณะของโรงไฟฟ้าก็จะมีอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจสอบทุกเดือน ซึ่งคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จไม่เกินหนึ่งปี และเชื่อว่าการบริหารจัดการในเรื่องของปัญหาขยะ เราเชื่อว่ามันเป็นปัญหาระดับชาติแม้แต่ทั่วโลกวันนี่ถ้าเรามองเห็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะเห็นว่าจะนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการขยะเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ซัมซูรดิน/รายงาน