Authority & Harm

เกษตรกร14จว.บุกร้องสภาทนายฯเอาผิด นายทุน-หน่วยงานนำเข้าปลาหมอคางดำ



กรุงเทพฯ-เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ 14จังหวัด บุกยื่นหนังสือสภาทนายความฯ เอาผิดนายทุนและหน่วยงานที่นำเข้าปลาหมดคางดำ จนสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศและความเดือดร้อนของเกษตรกร นายกสภาทนายความฯยืนยันช่วยเต็มที่ทั้งประสานงานหน่วยงานรัฐกำจัดและสืบค้นข้อเท็จจริงเพื่อฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ เดินทางมา ยื่นหนังสือถึงนายกสภาทนายความ เพื่อร้องเรียนและยกระดับการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธ์ปลาเข้ามาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยมี  ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ  นายสัญญาภัชระ  สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ  นายจรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ   นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการ ร่วมรับเรื่อง

สำหรับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1.กลุ่มประมงชานฝั่งบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  2.กลุ่มรักหาดเจ้า อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  3.กลุ่มรักอ่าวไทย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  4.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลยี่สาร จ.สมุทรสงคราม 5.กลุ่มเครือข่ายเพาะเลี้ยงคลองโคน จ.สมุทรสงคราม 6.เครือข่ายประมงพื้นบ้านบางแก้ว จ.สมุทรสงคราม 7.เครือข่ายเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ จ.สมุทรสงคราม 8.เครือข่ายผู้เลี้ยงปลากระชัง จ.สมุทรสงคราม 9.เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค  10.กลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแพรกหนามแดง 11.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเลตำบลบางกระเจ้า  สมุทรสาคร  12.กลุ่มอนุรักษ์มหาชัยฝั่งตะวันออกสมุทรสาคร  13.กลุ่มธนาคารปูม้า ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 14.เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อม  กรุงเทพมหานคร

นายปัญญา โตกทอง แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ 14 จังหวัด เปิดเผยว่า ปัญหาผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เป็นปัญหาระดับชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามารับรู้ปัญหาแล้ว และรับรู้แนวทางแก้ไขปัญหาโดยตั้งเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีภาคประชาชนเข้าไปร่วมด้วย คาดว่าจะแต่งตั้งเสร็จในเร็วๆ นี้ แล้วจะได้มีการประชุมกันว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สำหรับการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น นายปัญญากล่าวว่า จริงๆแล้ว เขาจัดที่เพชรบุรี อยากให้เกษตรกรเครือข่ายที่เพชรบุรีเป็นผู้ยื่นหนังสือ ที่สำคัญมีการประชุมครม.สัญจรที่ได้ ปัญหาในพื้นที่เยอะแยะไปหมด  ดังนั้นเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยเข้าไม่ถึง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนายทุนหรือบริษัทธุรกิจใหญ่จะเข้าถึงมากกว่า ประชาชนรายเล็ก รายน้อยก็จะไม่ค่อยได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตาม เรามองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้ามารับรู้เรื่องแล้ว แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องถึงนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีเครือข่ายที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เสนออยากเข้าไปพบนายกฯที่ทำเนียบเลย และเอาปลาหมอคางดำนี้ขนส่งรถไปด้วยสัก 10 ตันไปเทหน้าทำเนียบ เพื่อให้เกิดความสนใจลงมาแก้ปัญหา

“ตอนนี้น่ากลัว ปลาหมอคางดำได้ขยายพื้นที่เข้าไปถึงพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว ส่วนการที่จะไปพูดคุยกับบริษัทใหญ่ ที่สงสัยว่าเป็นผู้นำเข้านั้น ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่เรารู้จากการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เราเป็นชาวบ้านเราเดือดร้อนอย่างน้อยก็คุยกับหน่วยงานของรัฐก่อน โดยเฉพาะกรมประมง เมื่อกรมประมงแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็คุยกับกระทรวงเกษตรฯ และสภาทนายความฯ ที่จะเป็นคนกลางเข้ามาช่วยเราได้ “นายปัญญากล่าวและว่า

จากการพูดคุยกับเครือข่ายฯมองตรงกันว่า เมื่อเกิดความผิดและมีการละเมิดสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว จะทำอย่างไรให้ทางกฎหมายโดยสภาทนายความฯเข้ามาช่วยหาผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกรมประมงหรือนายทุนที่นำปลาหมอคางดำเข้ามา ทางชาวบ้านก็หวังพึงพาสภาทนายความฯจึงได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือในวันนี้

ดร.วิเชียร ชับไธสง นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ 14 จังหวัดได้ มี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีฯลฯ ได้เข้ามายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือให้ทางสภาทนายความฯ เรื่องผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพด้านประมงน้ำตื่น และเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอคางดำ เป็นปลากินเนื้อ กินลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปูทำให้ระบบนิเวศ เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก  ทำให้เกิดผลกระทบต่อการประมง เราจำเป็นต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ประการแรก คือการเข้าไปประสานหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำการกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดและอีกประการหนึ่งคือเราจะเข้าไปหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อจะดำเนินการทางด้านคดีกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำปลาหมอคางดำเข้ามาจนทำให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ จึงเป็นหน้าที่ของสภาทนายความฯที่ต้องดำเนินการทั้ง2ส่วน