Travel & Entertain

'TEIพารู้จัก'โกงกาง'ไม้แห่งป่าชายเลน เดินหน้าเพิ่มระบบนิเวศชายฝั่งทะเล



กรุงเทพฯ-ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและผลิตออกซิเจนที่สำคัญ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกกว่า 9 เท่า และรู้ไหม๊ว่าหนึ่งในชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลน ก็คือ ต้นโกงกาง (Rhizophora) และเนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคมเป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI พามารู้จัก โกงกาง พร้อมตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลผ่านกิจกรรม “สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมใจปลูกป่าชายเลน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล” ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ชลบุรี

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแหล่งผลิตสิ่งมีชีวิตและเป็นศูนย์รวมความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง   การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ ลดความรุนแรงของคลื่นลมและป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งทะเล แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันพื้นป่าชายเลนก็ถูกคุกคามจากปัจจัยหลายด้านทั้งจากภัยธรรมชาติและฝีมือของคนเรา ดังนั้นกิจกรรมร่วมใจปลูกป่าชายเลน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะถือเป็นการฟื้นฟูชายฝั่งทะเล จ.ชลบุรี และร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ วัยอ่อนเพื่อคืนชีวิตสู่ท้องทะเลตามธรรมชาติ และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เยาวชนรุ่นต่อๆไป ได้สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของธรรมชาติเพื่อส่งต่อบนผืนป่าชายเลน”

มาพูดถึงลักษณะของโกงกาง คุณพวงผกา  ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียบเรียงไว้ว่า โกงกาง เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับการขนานนามคือ “ไม้แห่งป่าชายเลน” ด้วยการที่มีรากค้ำจุนให้สามารถยืนต้นตั้งตรงอยู่ได้ในสภาพพื้นที่เป็นโคลน มีการแตกแขนงออกมา โคน ลำต้น หรือแม้แต่กิ่ง หยั่งลงไปยังพื้นโคลนเพื่อช่วยพยุงต้น และมีรากเพื่อการหายใจซึ่งเป็นเสมือนหลอดดูดเพื่อออกมารับออกซิเจน  รากต้นโกงกางได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผงกั้นป้องกันการกัดเซาะของกระแสน้ำและแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่ง และยังเป็นแหล่งวางไข่ ขยายพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงเปรียบได้ว่าโกงกางเป็นชนิดพันธุ์กุญแจสำคัญ ของระบบนิเวศ    ป่าชายเลน

แหล่งที่อยู่อาศัยของไม้แห่งป่าชายเลน ชอบดินที่เป็นโคลนเลน น้ำท่วมถึง สามารถเติบโตอยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด จึงมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและดำรงเผ่าพันธุ์ได้ ส่วน “ใบ” ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเหมือนต้นไม้ทั่วไป และยังทำหน้าที่ขับเกลือหากเติบโตในน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ซึ่งนั่นเป็นความสามารถในการปรับตัวและวิวัฒนาการโกงกาง 

สำหรับ ต้นโกงกางที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ มีความแตกต่างกันก็คือโกงกางใบเล็ก – มีใบเดี่ยว ยาวและเรียว ช่อดอกมี 2 ดอก ผลเป็นทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก ส่วนรากค้ำยันที่ออกมาจากโคนต้นจะทำมุมเกือบตั้งฉากและหักเป็นมุมลงดินเพื่อพยุงลำต้น 

โกงกางใบใหญ่-มีใบเดี่ยวที่ใหญ่และกลมกว่า ช่อดอกประกอบด้วยดอก 2-12 ดอก ผลมีลักษณะทรงกลมคล้ายไข่เช่นกัน โดยจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายฝัก มีรากค้ำยันที่แตกจากโคนต้นและค่อยๆ โค้งลงดิน ไม่หักเป็นมุมดังเช่นรากค้ำยันของโกงกางใบเล็ก

ด้วยความสำคัญของป่าชายเลน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เพื่อการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นคุณค่าของป่าชายเลน และร่วมกันการอนุรักษ์ป่าชายเลน

ทั้งนี้ ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พื้นที่ป่าชายเลน เช่น ทุ่งโปร่งทอง ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดได้อีกด้วย รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี ที่รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากนานาชาติ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาด้านระบบนิเวศป่าชายเลน ป่าชายเลน จึงไม่เพียงแต่มีความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ป่าชายเลนยังมีความสำคัญเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นทรัพยากรป่าชายเลนจึงมีคุณค่ามหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงขอชวนให้ทุกคนอนุรักษ์และฟื้นฟูชายเลน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนให้ยั่งยืนตลอดไป

แหล่งข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง/ บทความ Structure and Diversity of Plants in Mangrove Ecosystems โดย Mohd Nazip Suratman, 2021 / สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. /The IUCN Red List of Threatened Species