In Global

‘โครงการแปลงสายส่งไฟเป็นกระแสตรง’ ช่วยแก้-พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในเจียงซู



ปักกิ่ง, 14 พ.ค. (ซินหัว) - เมื่อไม่นานนี้ โครงการส่งไฟฟ้ากระแสตรงหยางโจว-เจิ้นเจียง ได้เริ่มให้บริการในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน โดยเป็นโครงการแรกในจีนที่เป็นโครงการแปลงสายส่งไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้งานอยู่ให้เป็นสายส่งไฟฟ้ากระแสตรง 

บริษัท สเตต กริด เจียงซู อิเล็กทริก พาวเวอร์ (State Grid Jiangsu Electric Power) ได้ยกระดับคุณภาพสายส่งไฟฟ้าระหว่างทั้งสองเมืองที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างหลักของเสาส่งไฟฟ้าข้ามแม่น้ำแยงซี เพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งไฟฟ้าของโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่

เฉินซงเทา ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและจัดการร่วมกับแผนกก่อสร้างของบริษัทฯ ระบุว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมากแต่มีพื้นที่ในการก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าใหม่อย่างจำกัด เนื่องจากเทคโนโลยีการแปลงการส่งไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นกระแสตรงที่เกี่ยวข้องนั้น สามารถแก้ปัญหาการส่งไฟฟ้าทางไกลระหว่างโครงข่ายไฟฟ้าในระดับภูมิภาคและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก

ปัจจุบัน การส่งไฟฟ้าจากตอนเหนือไปยังตอนใต้ของเจียงซู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ กระจายอยู่ทั่วไปนั้น อาศัยเส้นทางส่งไฟฟ้าข้ามแม่น้ำแยงซี 6 เส้นทาง แต่ความต้องการส่งไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการคุ้มครองระบบนิเวศตามแนวแม่น้ำแยงซีที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลให้โอกาสการสร้างเส้นทางใหม่ๆ นั้นมีน้อยลง ขณะที่ปัจจุบัน การพัฒนาความสามารถในการส่งไฟฟ้าของเส้นทางที่ใช้งานอยู่ก็มีความจำเป็นมากขึ้น

เฉินระบุว่าหากเทียบกับสายส่งไฟฟ้ากระแสสลับแล้ว สายส่งไฟฟ้ากระแสตรงที่มีแรงดันไฟฟ้าเท่ากันจะมีกำลังการส่งไฟฟ้ามากกว่าและเกิดการสูญเสียระหว่างส่งไฟฟ้าน้อยกว่า ขณะที่การแปลงจากไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรงนั้น ช่วยให้สายส่งไฟฟ้าหยางโจว-เจิ้นเจียงในปัจจุบันมีความสามารถในการส่งไฟฟ้าอยู่ที่ 1.2 ล้านกิโลวัตต์ 

นอกจากการขยายกำลังการผลิตแล้ว การแปลงสายส่งไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นกระแสตรงยังมีข้อดีหลายประการ เช่น เสถียรภาพและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่สูง โดยเฉินเสริมว่าส่วนที่ข้ามแม่น้ำแยงซีนั้น ระยะเวลาการก่อสร้างสั้นกว่าการสร้างสายส่งใหม่ราว 5-6 เดือน ขณะที่การลงทุนที่เกี่ยวข้องลดลงเกือบ 60 ล้านหยวน (ราว 312 ล้านบาท)

บริษัทฯ ยังใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะเพื่อให้บรรลุการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยสวีหวยอวี้ รองประธานวิศวกรของโครงการ กล่าวว่าบริษัทฯ ได้พัฒนาทางแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมสำหรับการเปลี่ยนสายส่งทางไกลและความสำเร็จด้านนวัตกรรม 9 รายการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง

หลังจากเสร็จสิ้นโครงการระยะที่ 2 และ 3 แล้ว คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจะสูงถึง 3.6 ล้านกิโลวัตต์ และยังตอบสนองความต้องการการส่งพลังงานไฟฟ้าในเจียงซูอีกด้วย

(เรียบเรียงโดย Duan Jing, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/436096_20240514 , https://en.imsilkroad.com/p/339979.html)