Think In Truth

'บุญซำฮะ'เทศกาลชำระจิตใจให้สะอาด พร้อมการผลิต : โดย ฟอนต์ สีดำ



ซำฮะ เป็นภาษาอีสาน หมายถึง การทำความสะอาด ประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน ตามฮีตสิบสองมีว่าพอเมื่อเดือนเจ็ดให้พากันบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมืองทั้งมเหศักดิ์ด้วย เพื่อขอความคุ้มครองจากเทวดาอารักษ์มเหศักดิ์เมืองปู่ตาเมืองให้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเหตุเภทภัยต่าง ๆ มากล้ำกราย โดยแต่งเครื่องบูชาบวงสรวงเทพดังกล่าว พิธีนี้มีทุกบ้านทุกเมืองในเขตอีสาน

บุญซําฮะ หรือ ชําระ เกิดตามความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทําบุญชําระจิตใจให้สะอาดและเพื่อปัดเป่ารังควานสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้าน บางท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่า บุญเบิกบ้าน ซึ่งมีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและไสยศาสตร์ ในวันทําบุญ ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนําดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ ขันใส่กรวดทรายและเฝ้าผูกแขนมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีศาลากลางบ้าน ชาวบ้านจะช่วยกันปลูกปะรําพิธีขึ้นกลางหมู่บ้าน ตกตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดชัยมงคลคาถา (ชาวอีสานเรียกว่าตั้งมุงคุณ) เช้าวันรุ่งขึ้นจะพากันทําบุญตักบาตรเลี้ยงพระถวายจังหัน เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจะให้พรและประพรมน้ำพุทธมนต์ให้แก่ทุกคนที่มาร่วมทําบุญ จากนั้นชาวบ้านจะนําขันน้ำมนต์ ด้ายผูกแขนขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเองแล้วนําน้ำมนต์ไปประพรมให้แก่ทุกคนในครอบครัว ตลอดจนบ้านเรือนและวัวควาย เอาด้ายผูกแขนลูกหลานทุกคน เพราะเชื่อว่าจะนําความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน ส่วนกรวดทรายก็จะเอามาหว่านรอบ ๆ บริเวณบ้านและที่สวนที่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและ สิ่งอัปมงคล

โดยนัยแล้ว การทำบุญซำฮะ เป็นความต่อเนื่องจากการปฏิบัติตามฮีตสิบสอง หรือจารีตสิบสองเดือน ที่เคยเอ่ยถึงมาแล้วในตอนก่อนหน้า ว่าเดือนห้าเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลผลิต ที่ทุกคนต้องช่วยกันเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการร่วมประเพณีสงกรานต์ ด้วยการสาดน้ำเพื่อคลายร้อน เพื่อให้น้ำได้ระเหยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ สิ้นสงกรานต์แล้ว เดือนหก ก็ช่วยกันปล่อยควันเกลือในอากาศด้วยการจุดบั้งไฟขึ้นบนท้องฟ้า บั้งไฟจึงถูกขับด้วยดินประทุที่ทำมาจากถ่านไฟผสมกับดินประสิวที่ได้มาจากการตกผลึกของขี้ค้างคาว(อีเกีย) ที่ควันดินประสิวซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเกลือ จะดูดความชื้นเข้ามาเป็นเม็ดฝน และตกลงมา หลังจากฝนตกชุดแรกในเดือนเจ็ด ชาวบ้านก็เอาอุปกรณ์ทางการเกษตรออกไปทำความสะอาด และตรวจสอบความเรียบร้อย ความสมบูรณ์ของเครื่องมือการเกษตร ถ้าต้องซ่อมแซมก็ต้องดำเนินการซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดี และลองฮุดนาหรือทดลองไถเพื่อตรวจเช็คความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ทางการเกษตร พร้อมทั้งทำแปลงสาธิตเพื่อการปลูกข้าว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ตาแฮก” ไว้ ตาฉอกจะทำในพื้นที่นาที่ลงไถครั้งแรกซึ่งแปลงนาแปลงนั้นก็จะเรียกว่าตาแฮกเหมือนกัน

เมื่อตรวจเช็คอุปกรณ์ในการทำนาจนสมบูรณ์เรียบร้อยก็จะ เอาอุปกรณ์ไปเก็บเพื่อรอการผลิตหลังการทำบุญซะฮะที่วัดเรียบร้อย ส่วนใหญ่จะทำหลังพระราชพิธีแรกนาขวัญ เพื่อจะได้นำเมล็ดพันธ์ข้าวจากท้องสนามหลวง มาปลูกในตาแฮก เพื่อเป็นขวัญข้าว แต่ถ้าไม่ได้ข้าวจากพิธีแรกนาขวัญ ชาวบ้านจะนำข้าวปลูกที่จะหว่านในตากล้ากระบุงแรกไปหว่านในตาแฮก และจะถอนดำในแปลงตาแฮกนั้นด้วย

บุญซำฮะน่าจะมีมาในสมัยพุทธกาล โดยการประยุกต์จากพิธีแรกนา หรือแฮกนา ของกลุ่มศาสนาผี ที่ปฏิบัติกันมาก่อนพุทธกาล โดยอาศัยข้อมูลหลักฐานจากพระไตรปิฎก ที่ระบุถึง พระเจ้าสุโทธนะ ได้เสด็จไปร่วมพิธีแรกนาขวัญ ที่มีเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จตามไปด้วย และไปพรำนักใต้ต้นหว้า ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นกิ้งก่ากินมด งูก็กินกิ้งก่า เหยี่ยวก็โฉบลงมาจิกงูฉีกเนื้อกินเป็นอาหาร ทำให้พระองค์เกิดฌานแรกเกิดขึ้น ที่เป็นที่มาแห่งการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ดังนั้น ประเพณีแรกนาขวัญ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเยาว์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ย่อมเป็นประเพณีที่มีมาก่อนการกำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นพิธีในศาสนาผี เพราะพิธีนั้นเรียกว่า “แรกนาขวัญ” ศาสนาผีเป็นศาสนาที่นับถือ “ขวัญ” นาขวัญ จึงเป็นนาในศาสนาอื่นไม่ได้ นอกจากศาสนาผี

ศาสนาพุทธจึงบูรณาการวัฒนธรรมศาสนาผีให้เข้ากับศาสนาพุทธ จึงกำหนดเอาเดือนเจ็ดเป็นประเพณีบุญซำฮะ ที่ผนวกเอาการชำระจิตใจไปพร้อมๆ กับการประกอบอาชีพหลักของชาวบ้านไปด้วย ดังนั้นประเพณีบุญซำฮะจึงปฏิบัติทั้งศาสนกิจทางพระพุทธศาสนาเพื่อชำระจิตใจและการเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพในการทำนา การบูรณาการที่ผสมผสานได้อย่างลงตัวอย่างนี้ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ปลูกฝังบ่มเพาะให้คนไทยเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

จากเรื่องในพระธรรมบทว่า ครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย ภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะเกิดฝนแล้ง สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ล้มตายเพราะความหิว เกิดโรคระบาด (โรคอหิวาตกโรค) ทำให้ผู้คนล้มตาย ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งจึงพากันไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาขจัดปัดเป่า พระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ 500 รูปโดยเดินทางมาทางเรือใช้เวลาเดินทาง 7 วัน จึงถึงเมืองไพสาลี เมื่อเสด็จมาถึงก็เกิดฝน “ห่าแก้ว” ตกลงมาอย่างหนักจนน้ำฝนท่วมแผ่นดินสูงถึงหัวเข่า และน้ำฝนก็ได้พัดพาเอาซากศพของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ ไหลลอยลงแม่น้ำไปจนหมดสิ้น พระพุทธเจ้าทำน้ำมนต์ใส่บาตรให้พระอานนท์ นำน้ำมนต์ไปสาดทั่วพระนคร โรคร้าย ไข้เจ็บก็สูญสิ้นไปด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าและน้ำพระพุทธมนต์ ดังนั้น คนไทยอีสานจึงถือเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือนเจ็ดของทุกปีจะพากันทำบุญซำฮะเป็นประจำทุกปี

ตาแฮกเป็นผีที่ดูไร่นาของชาวบ้าน ตามความเชื่อของคนอีสาน ที่นับถือผีกันมาก่อนที่จะมีพระพุทธศาสนา และนิทานหรือตำนานตาแฮกก็นำสองเรื่องมาผูกโยงเข้าด้วยกันอย่างดี

เรื่องของตาแฮก ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐีมีทรัพย์ เมื่อพ่อตายได้ทิ้งมรดกทรัพย์สินไว้ให้มากมาย แม่ก็อยากให้ลูกชายมีคู่ ก็ไปขอสาวมาเป็นเมีย อยู่มานานก็ไม่มีลูกสืบสกุล แม่ก็จัดการหาผู้หญิงคนใหม่มาให้เป็นเมีย คราวนี้ได้เรื่อง ผัวหนุ่มก็เอาใจใส่ดูแลเมียสาวคนใหม่อย่างดี เมียเก่าเมียหลวงก็อิจฉาริษยา แต่ก็ทำดีให้ตายใจ เมื่อเมียน้อยตั้งท้องก็จัดการหายาให้กินจนแท้งลูก และถูกทำเช่นนี้จนท้องที่สามตั้งท้องก็กลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ จะได้ไม่เกิดปัญหา ในที่สุดก็เกิดจนได้ คราวนี้ตายทั้งแม่ทั้งลูก เมียน้อยก็อาฆาตผูกพยาบาทจองเวรเมียหลวงทุกชาติไป ส่วนผัวเมื่อรู้ว่าเมียหลวงเป็นคนทำก็โกรธมาก จัดการฆ่าเมียหลวงให้ตายตกไปตามกัน เมียหลวงแทนที่จะอาฆาตผัวที่ฆ่าตัวกลับเจ็บแค้นขอพยาบาทจองเวรเมียน้อยทุกชาติไปเหมือนกัน จองเวรกันไม่เลิกทั้งสองฝ่ายยังปรับทัศนคติกันไม่ได้

ชาติหนึ่งเมียน้อยเกิดมาเป็นแมว เมียหลวงเกิดมาเป็นแม่ไก่ แม่ไก่ไข่ออกมาทีไร เมียน้อยที่เกิดมาเป็นแมวก็จัดการกินไข่จนหมด สุดท้ายก็กินแม่ไก่เสียด้วย

จนชาติหนึ่งเมียน้อยเกิดมาเป็นมนุษย์ เมียหลวงเกิดมาเป็นยักษ์ การจองเวรก็ยังทำท่าจะดุเดือดไม่สิ้นสุด จนกระทั่งได้พบพระพุทธองค์พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดสัตว์ สั่งสอนโปรดยักษ์ให้เลิกอาฆาตเลิกพยาบาทจองเวรกันเสียไม่มีประโยชน์อะไร อาฆาตไม่จบความสงบก็ไม่เกิด จนนางยักษ์สงบจิตเข้าใจในคำสอน ในที่สุดก็ให้นางยักษ์ไปสิงสถิตอยู่ปลายไร่ปลายนา ไม่ใช่ไปเฝ้าไร่นาอย่างเดียว นางยักษ์นั้นมีความรู้เรื่องฟ้าฝนนํ้ามากนํ้าน้อย จึงช่วยดูแลให้ทำนาไร่ได้ผลดี พอมีงานบุญประเพณี คนอีสานจึงมาเลี้ยงมาไหว้ผีตาแฮกกันด้วยประการฉะนี้

แม้จะเป็นตำนาน แต่เป็นการบอกเล่าถึงความเชื่อเก่าแก่ก่อนที่พระศาสนาจะเข้ามา จนกระทั่งพบพระพุทธองค์นั่นคือพบพระศาสนาพบธรรมะ สอนด้วยธรรมะ ให้มีธรรมมีความเมตตากรุณาอภัย ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกันและผนวกกับวิถีชีวิตการทำมาหากินด้วยความศรัทธา จึงเป็นประเพณีที่สานสืบต่อกันมา

การไหว้ผีตาแฮกทุกวันนี้ก็ยังคงมีปฏิบัติกันอยู่บ้างแต่ก็สูญหายไปไม่น้อย เพราะเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการผลิต การไหว้ผีตาแฮกเป็นการไหว้ผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดำ และหลังการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมเป็นศาลหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทำรั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้

พิธีกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับผีตาแฮก

การเลี้ยงผีตาแฮก เลี้ยง 2 ครั้ง คือ

1. เลี้ยงก่อนทำการปักดำ เดือนเจ็ดประเพณีบุญซำฮะ และเตรียมตาแฮก หว่านกล้า ประมาณเดือนแปด ก็จะปักดำตาแฮก และเลี้ยงผีตาแฮก

2. เลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยว ประมาณวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบ ก็จะทำการเลี้ยงผีตาแฮกอีกครั้ง รวมทั้งทำบุญข้าวสากไหว้ผีบรรพบุรุษไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่จะนำไปเลี้ยง หรือเซ่นไหว้ มีดังนี้

1. เหล้า 1 ขวด

2. ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน 2 ตัว

3. ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่

4. น้ำ 1 ขวด แก้ว 2 ใบ

5. กระติ๊บข้าว 1 กระติ๊บ

วิธีเลี้ยงผีตาแฮก

เมื่อเตรียมสิ่งที่จะเลี้ยงไว้เรียบร้อยแล้ว เอาใส่ตะกร้านำไปในที่ที่เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมา จัดใส่ถาด เหล้าเปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้ารินใส่แก้วคนละใบ จุดเทียน ตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญชวนให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ที่นำมาพร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากเลี้ยงหรือเซ่นไหว้หลังการทำนาก็จะเป็นการกล่าวคำขอบคุณผีตาแฮกที่ทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี กะเวลาพอประมาณก็นำสำรับที่เตรียมไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่ไปเลี้ยงผีตาแฮกด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี

สิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างวัฒนธรรม ที่เป็นกุโลบายให้คนไทยได้ถือปฏิบัติ เป็นกรอบวิถีชีวิตที่ให้คนรุ่นหลังได้ถือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล มีวิถีแห่งการเกื้อกูล เพื่อความยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลกใบนี้ ด้วยวิทยาการที่ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้า และไม่สามารถอธิบายประกฏการทางธรรมชาติไม่ได้ จึงอาศัยสิ่งที่ไม่รู้เป็นกรอบเงื่อนไขในการเคารพ คือ “ผี” โดยกำหนดผีตามคุณสมบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้คนได้เคารพและถือปฏิบัติให้สอดคล้องกับปรากฏการทางธรรมชาติ ในการรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บวกกับความโลภที่ไม่มีขีดจำกัดของคน จึงทำให้วัฒนธรรมบางอย่างนั้นด้อยค่าลง ภาวะทางธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ ที่มีความมั่นคั่งอย่างยั่งยืนเหมือนเดิมก็ลดง การลงโทษทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะอากาศร้อน น้ำท่วม ดินแล้ง อากาศหนาว พายุลูกเห็บ ก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอนาคตคนเราก็อาจจะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้ลำบากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงไม่สายจนเกินไป ถ้าเราเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการ มาอธิบายให้สังคมได้เข้าใจ และลดความโลภ โม โท สัน ลง มองถึงวิธีการจัดการให้โลกอยู่ในสมดุลร่วมกันดำเนินการในการประกอบอาชีพที่รักษาไว้ซึ่งความสมดุลของโลก พยันตรายจากธรรมชาติที่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นก็จะลดลง และกลับไปสู่ภาวะปกติของโลก ที่อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก สันติ และสงบ ดั่งสววร์ชั้นจาตุมหาราชิกา ต่อไป