In Bangkok

กทม.เดินหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศผ่าน160โครงการ



กรุงเทพฯ-นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการรับมือสภาวะโลกร้อนของ กทม. ว่า สสล. ได้ปรับปรุงและจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 - 2573 ฉบับใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก แนวทางการปรับตัวทั้งในระดับประเทศ และความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 จากกรณีปกติ หรือ 10.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีมาตรการและโครงการภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งสิ้น 160 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 46 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 29 ซึ่งมีมาตรการ/โครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบรถเวียน (Shuttle Bus) เพื่อรับส่งผู้โดยสารสู่ระบบราง การปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางจักรยานให้เหมาะแก่การสัญจร การติดตั้ง Solar Rooftop อาคารสังกัด กทม. การเปลี่ยนไฟถนนเป็น LED การส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด การก่อสร้างเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน การใช้รถเก็บขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโรงบำบัดนำเสีย ตลอดจนการนำร่องการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียชนิดท่อแยก การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณะ เช่น โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำและการจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำและกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) เป็นต้น

นอกจากนั้น กทม. ยังมีแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนและดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างการมีส่วนร่วม เช่น โครงการเสริมสร้างการรับรู้ของเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโครงการประกวดคลิปสั้นของเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนและการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม. เยาวชน มหาวิทยาลัย และองค์กรต่าง ๆ โครงการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะตามประเภทแหล่งกำเนิด จำนวน 22 กลุ่มเป้าหมาย โดยสำรวจข้อมูลองค์กร หน่วยงาน ชุมชนในพื้นที่ 50 เขต รณรงค์ส่งเสริมการรับรู้ การเข้าใจและมีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดต้นทาง และโครงการไม่เทรวม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหารและขยะทั่วไป เพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่งไปรีไซเคิลทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่หลุมฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด กทม. ปรับเปลี่ยนรถในหน่วยงานจากพลังงานเชื้อเพลิงเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลภาวะและสนับสนุนการแก้ไขสภาวะโลกร้อน กทม. ได้มีแนวทางและมาตรการที่จะปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ของหน่วยงาน กทม. โดยระยะเริ่มต้นจะศึกษาความคุ้มค่าและเปรียบเทียบการทำงานกับรถยนต์สันดาปก่อนการดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและขยายผลการดำเนินการกับรถของ กทม. ในระยะต่อไป รวมทั้งได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนรถเก็บขนมูลฝอยเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าด้วย

สำหรับความคืบหน้าการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการเพิ่มสวนสาธารณะของ กทม. ได้พัฒนาพื้นที่สีเขียว ส่วนสวนสาธารณะ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ สสล. 57 สวน รวมสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 67) รวมทั้งได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีขนาดพื้นที่เหมาะสมตามรูปแบบของชุมชน เช่น การพัฒนาสวน 15 นาที ให้มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เหมาะสมกับการใช้งาน การดูแล การเดินทาง และระบบนิเวศโดยรอบ ซึ่งนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ปัจจุบันมียอดจองปลูกต้นไม้จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 1,641,310 ต้น ดำเนินการปลูกแล้ว 903,204 ต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยสวน 15 นาที ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 117 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 67) เป้าหมายในอนาตจะขยายให้ครบ 500 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเสนอพื้นที่เพื่อพัฒนาสวน 15 นาที ร่วมกับ กทม. ได้ และสามารถติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ผ่าน Website : การดำเนินงานปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง Facebook : สำนักสิ่งแวดล้อม TikTok : สำนักสิ่งแวดล้อม และ Website : สำนักสิ่งแวดล้อม หากมีข้อเสนอแนะสามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อ กทม. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป