Digitel Tech & Innovation
วว./บพข.เครือข่ายพันธมิตรแบ่งปันความรู้ เทคโนโลยีการรักษาด้วยเซลล์บำบัด
กรุงเทพฯ-วว. /บพข. เครือข่ายพันธมิตร แบ่งปันความรู้ประสบการณ์ด้านความก้าวหน้าเทคโนโลยีการรักษาด้วยเซลล์บำบัด
วันนี้ (29พ.ค. 2567 ) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ICT Conference 2024, International Cellular Therapeutics Conference ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานีซึ่งมีนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Department of Biochemistry National University of Singapore (NUS) ประเทศสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีนและมาเลเซีย ให้เกียรติบรรยาย ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษาด้วยเซลล์บำบัดเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะจากผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภคตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนโอกาสนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.พงศธร ประภักรางกูล นักบริหารพิเศษและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ และบุคลากร วว. เข้าร่วมการสัมมนาด้วย
ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการดังกล่าวดำเนินงานภายใต้ โครงการการพัฒนาสถานที่และกระบวนการผลิต Allogeneic umbilical cord-derived mesenchymal stem cell ตามมาตรฐาน GMP สำหรับการรักษาด้วยเซลล์บำบัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และบริษัทวีก้า เวลเนส จำกัด ในปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แผนงานพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products: ATMPs) รวมถึงชีววัตถุที่เกี่ยวข้องและวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมระดับสูงและมูลค่าสูงให้เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยมีคณะผู้วิจัยหลักอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและมีหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรสนับสนุนในด้านอื่นๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี
“...เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ คือ การพัฒนาสถานที่ผลิต ระบบการผลิตสเต็มเซลล์ ระบบควบคุมคุณภาพ ระบบควบคุมความเสี่ยง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน PIC/S GMP การทดสอบฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในระดับสัตว์ทดลอง การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในระดับหลอดทดลองที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อให้ได้มาซึ่งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแบบallogeneic stem cells สำหรับใช้ในการบำบัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูงสุดเพื่อเตรียมพร้อมสู่การนำไปใช้ยืนยันความปลอดภัยเชิงคลินิกของอาสาสมัคร (phase I/II clinical trials) ในโครงการระยะถัดไป โดยตามแผนการดำเนินงานคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิต Allogeneic stem cell ซึ่งจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมความพร้อมในการขยายผลทางคลินิกสู่การแพทย์ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมสุขภาพด้วยการผลักดันการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูงภายในประเทศให้มีศักยภาพ มีการศึกษาทางคลินิกที่พิสูจน์และวัดผลได้ โดยได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล...” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุปในกรอบการดำเนินงานและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ