In Bangkok

'จักกพันธุ์'เข้ม!!เทศกิจยึดจัดระเบียบผู้ค้า เตือนผู้ค้าล้ำแนวเส้นซอยแสงศึกษา



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ย้ำเทศกิจกางแผนยึดหลักเกณฑ์จัดระเบียบผู้ค้าอย่างจริงจังและเด็ดขาด คุมเข้มผู้ค้าตลาดรวมยางถนนสามเสนเขตพระนคร เตือนผู้ค้าล้ำแนวเส้นซอยแสงศึกษา เล็งปรับแนวแผงค้าหน้าตลาดพรานนกถนนอิสรภาพเขตบางกอกน้อย 

(1 มิ.ย. 67) เวลา 08.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันบริเวณตลาดรวมยาง ถนนสามเสน เขตพระนคร พื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันบริเวณซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน และหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระนคร เขตบางกอกน้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

“การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านั้น เจ้าหน้าที่เทศกิจควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หาบเร่แผงลอย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการสัญจรร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ผ่านมา มีเขตฯ ซึ่งนับได้ว่าเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยการมีส่วนร่วมระหว่างเขตฯ และผู้ค้า เช่น เขตจตุจักร บริเวณตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 ที่ปรับเปลี่ยนขนาดแผงค้าเป็นขนาด 2 X 1 เมตร ตามแนวยาวของถนน เขตบางคอแหลม ที่ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าฝั่งตรงข้ามและด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยย้ายผู้ค้าเข้ามาทำการค้าบริเวณ Hawker Center หน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ หากแบ่งระดับการทำงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจในแต่ละพื้นที่เขตแล้ว จะแบ่งออกเป็น ทำดีมาก ทำดี ยังไม่ได้ทำ เจ้าหน้าที่เทศกิจควรปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจตราพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ยึดถือประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวย้ำ

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันเขตพระนคร บริเวณตลาดรวมยาง ถนนสามเสน ผู้ค้า 96 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-13.00 น. ผู้ค้าส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และผลไม้ตามฤดูกาล รูปแบบร้านค้าจะเป็นลักษณะแผงค้า รถเข็น หาบเร่ โดยในวันนี้เป็นการตรวจความเรียบร้อยต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเขตฯ ได้จัดระเบียบผู้ค้าให้อยู่ในแนวเส้นที่กำหนด ไม่ให้มีการตั้งวางอุปกรณ์การค้ารุกล้ำผิวจราจร และนำป้ายไวนิลมาติดตั้งเพื่อความสวยงาม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการอย่างจริงจังตามหลักเกณฑ์จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ส่วนแผงเหล็กที่ติดป้ายไวนิลตั้งวางอยู่ริมถนน ให้พิจารณาย้ายแผงเหล็กออกไป ส่วนป้ายไวนิลอาจจะนำติดที่แผงค้าแทน 

ปัจจุบันเขตพระนคร มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 22 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,024 ราย ดังนี้ 1.บริเวณซอยท่ากลาง ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนบ้านหม้อ ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนจักรเพชร ผู้ค้า 6 ราย 4.ซอยทิพย์วารี ผู้ค้า 61 ราย 5.ซอยจินดามณี ผู้ค้า 36 ราย 6.ถนนจักรพงษ์ ผู้ค้า 55 ราย 7.ซอยรามบุตรี ผู้ค้า 46 ราย 8.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 11 ราย 9.ถนนพระสุเมรุ (แยกสิบสามห้าง-แยกบางลำพู) ผู้ค้า 7 ราย 10.ถนนสามเสน ผู้ค้า 96 ราย 11.ถนนสิบสามห้าง (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 12.ถนนรามบุตรี ฝั่งโรงแรมไอบิท (กลางคืน) ผู้ค้า 26 ราย 13.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 51 ราย 14.บริเวณท่าพระจันทร์ ผู้ค้า 22 ราย 15.บริเวณริมคลองหลอด ถนนราชินี ผู้ค้า 11 ราย 16.ถนนเฟื่องนคร ผู้ค้า 44 ราย 17.ถนนมหาไชย ผู้ค้า 18 ราย 18.บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้ค้า 99 ราย 19.บริเวณตลาดตรอกหม้อ ผู้ค้า 219 ราย 20.บริเวณปากคลองตลาด (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 21.บริเวณท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช (กลางคืน) ผู้ค้า 44 ราย 22.ถนนราชินี (กลางคืน) ผู้ค้า 27 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 972 ราย ดังนี้ 1.แพร่งนรา ผู้ค้า 16 ราย 2.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 43 ราย 3.ถนนสามเสน ผู้ค้า 13 ราย 4.ถนนไกรสีห์ ผู้ค้า 171 ราย 5.ถนนตานี ผู้ค้า 228 ราย 6.ถนนจักเพชร-พาหุรัด-ตรีเพชร ผู้ค้า 222 ราย 7.ถนนพาหุรัด ฝั่งไชน่าเวิลด์ ผู้ค้า 48 ราย 8.ถนนข้าวสาร 178 ราย 

จากนั้นติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันเขตบางกอกน้อย บริเวณซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ผู้ค้า 38 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่จะตั้งวางแผงค้าจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เช่น โจ๊ก ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ กาแฟ จากการลงพื้นที่วันนี้พบว่าผู้ค้าบางรายมีการตั้งวางเต็นท์กันแดดกันฝน แต่เสาเต็นท์ยื่นล้ำเข้าในพื้นที่ทางเท้าเกินขอบเขตแผงค้าที่เขตฯ กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามเขตฯ จะดำเนินการขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตของแผงค้าใหม่ เพื่อให้มองเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นทดแทนแนวเส้นเดิมที่ซีดจางลง ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงล้างทำความสะอาดพื้นที่ทุกวันจันทร์ซึ่งจะเป็นวันที่หยุดทำการค้า โดยเฉพาะแผงค้าที่ปรุงหรือประกอบอาหารที่มีการใช้น้ำมันในการทอดอาหาร ซึ่งจะมีคราบน้ำมันกระเด็นติดบนพื้นทางเท้า นอกจากนี้เขตฯ จะสำรวจจำนวนผู้ค้าที่ทำการค้าอยู่จริง ตรวจสอบจำนวนผู้ค้าจัดทำให้เป็นยอดปัจจุบัน รวมถึงเชิญผู้ค้ามาประชุมชี้แจงเพื่อให้รับทราบถึงแนวทางการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันบริเวณหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 181 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่จะตั้งวางแผงค้าจำหน่ายอาหารสด อาหารทะเล เช่น หมู ไก่ กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา อาจก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล โดยเขตฯ ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ค้า ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งพิจารณาหาแนวทางจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ ภายหลังการปรับปรุงทางเท้า หากเป็นไปได้ให้ผู้ค้าทำการค้าอยู่ทางด้านอาคารเพียงด้านเดียว ส่วนด้านที่อยู่ริมถนนให้ยกเลิกทั้งหมด 

สำหรับเขตบางกอกน้อย มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 587 ราย ได้แก่ 1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย 2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย 3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย 4.หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 181 ราย 5.หน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ (ทั้ง 2 ฝั่ง) ผู้ค้า 30 ราย 6.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ 7.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้าบริเวณหน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ (ทั้ง 2 ฝั่ง) ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 19 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 147 ราย ได้แก่ 1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 5.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 ผู้ค้า 1 ราย 6.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย 7.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ ผู้ค้า 7 ราย 8.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย 9.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย 10.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย 11.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย 12.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ผู้ค้า 2 ราย 13.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย ผู้ค้า 3 ราย 14.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย 15.ปากซอยแสงศึกษา หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย 16.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย 17.ถนนอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 3 ราย 18.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ค้า 8 ราย และ 19.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย