In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติสั่งเข้ม5ข้อกับโรงเรียนกทม. 'ต้องปลอดบุหรี่ไฟฟ้า'



กรุงเทพฯ-นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า  กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เราเน้นการป้องกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและห้ามจำหน่าย แต่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ากลับมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้าที่เป็นเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดการเสพติดในระยะยาว ทั้งยังมีการผลิตในรูปแบบลักษณะคล้ายของเล่น (Toy Pod) ตุ๊กตา รวมถึงมีการใส่กลิ่นต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้สูบ และสร้างการรับรู้ที่ผิดให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ซึ่งในความจริงแล้ว การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ผู้สูบเกิดการเสพติดนิโคติน หรืออาจมีปอดอักเสบเฉียบพลัน เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ สร้างปัญหาทางสุขภาพและมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

กรุงเทพมหานครมีผู้สูบบุหรี่ จำนวน 1,232,467 คน คิดเป็นร้อยละ 16.1 มีการสูบบุหรี่ประมาณ 10 มวนต่อวัน และนักสูบหน้าใหม่มีอายุเฉลี่ยที่ 18.5 ปี โดยปัจจุบันได้ระบาดลงมาถึงเด็กชั้นประถม อายุแค่ประมาณ 6 ขวบก็มีการสูบแล้ว จึงต้องขอความร่วมมือคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ติดตามข่าวสารให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ให้ร่วมมือกันกวาดล้างการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ทั่วไป

ในการนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 31 พ.ค. 67 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ เพื่อการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขและร่วมมือกันเฝ้าระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ และเพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบมีการแพร่หลายในโรงเรียน โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

1. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยให้มีการติด/แสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณทางเข้า - ออก และภายในบริเวณโรงเรียน พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางที่หลากหลาย 

2. ให้โรงเรียนตรวจกระเป๋านักเรียน ตรวจตราบริเวณอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการนำบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน

3. ให้สำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต โดยจัดเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา

4. ให้โรงเรียนจัดทำ Dropbox สำหรับใส่บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อตรวจพบการนำบุหรี่ไฟฟ้า ฯ เข้ามาในโรงเรียน ให้ริบใส่ไว้ใน Dropbox และจัดทำข้อมูลทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้า ฯ ดังกล่าว พร้อมแจ้งสำนักงานเขตเพื่อประสานดำเนินการต่อไป

5. ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และตรวจเยี่ยมโรงเรียน ในกรณีที่มีเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสิ่งเสพติดอื่นใด ให้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการปรับพฤติกรรมหรือนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป