In Bangkok

กทม.รุกแผนปฏิบัติการรับสังคมสูงวัยขั้น3 เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกมิติ



กรุงเทพฯ-นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สพส. ได้เตรียมความพร้อมกำหนดนโยบายรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยจัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของสังคม” เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงาน กทม. ที่มีภารกิจด้านผู้สูงอายุให้ทำงานเชิงบูรณาการและแปลงแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อม นำไปสู่การให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ มีหลักประกันที่มั่นคงจนถึงบั้นปลายของชีวิต และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต มีทัศนคติที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับคนต่างวัยได้ และให้การเกื้อหนุนแก่ผู้สูงอายุในยามจำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการย่อย ประกอบด้วย (1) การเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ เพื่อให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุเตรียมพร้อม เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต (2) การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม รวมถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย โดยสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามความเหมาะสม หรือได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือกรณีที่มีความจำเป็น แบ่งเป็น มิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม และ (3) การบริหารและส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบรองรับสังคมสูงวัย เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ กทม. ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570) ให้มีประสิทธิภาพและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง โดยมีแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระดับพื้นที่ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งสะท้อนถึงปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ กทม. ตลอดจนมีโครงสร้างการดำเนินงานและการกำกับติดตามที่เป็นระบบ คล่องตัว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม