In Bangkok
กทม.เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงตั้งศูนย์ติดตาม สถานการณ์-ควบคุมการแพร่ระบาด
กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้มอบหมายโรงพยาบาลสิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อติดตามข้อมูลและควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทราบทันที ทั้งนี้ หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนด
นอกจากนั้น ได้รณรงค์เน้นย้ำให้ความรู้และคำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัว ไม่คลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน ไม่ร่วมรับประทานอาหารและใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นสังเกตผู้ที่พบปะว่า มีอาการไม่สบายหรือไม่ การใส่หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ลงได้มาก โดยพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงยังคงมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคนและคนแปลกหน้า ซึ่ง สนพ. ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกรุงเทพฯ รวมทั้งเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง