Think In Truth

กลเกมเลือกสว.ในอุ้งมือ'กลุ่มอำนาจเก่า' โดย : ฅนข่าว 2499



การเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดใหม่ จะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 ที่จะถึงนี้ ในระดับอำเภอ ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พบว่า หลายจังหวัดทั่วประเทศ มีข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาให้น่าจับตา ถึงความไม่ชอบมาพากล นำไปสู่ความสงสัยจากข้อมูลต่างๆ ที่หลุดออกมา ว่าจะเป็นการทุจริตต่อการเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบคำถามว่าเหตุใดยังไม่ถึงวันเลือกรอบแรกในระดับอำเภอตามที่ กกต.กำหนดนัดหมาย แต่ในบัญชีโพยผู้สมัครทั่วประเทศกลับมีรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบผ่านด่านจากอำเภอและผ่านจังหวัด ไปเข้ารอการเลือกในระดับประเทศมากถึง 149 คนแล้ว มีช่องว่างหรือบกพร่องตรงไหน บกพร่องที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือระเบียบ กกต. หรือการจัดฮั้วส่งคนบล็อกโหวตของพรรคการเมือง เรื่องนี้ต้องมีการร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ผู้สมัคร สว.ทั่วประเทศรู้กันแล้ว แต่ กกต.อาจยังไม่รู้ เผยรายชื่อ 149 คน ผู้โชคดี ผ่าน 4 ขั้นตอนแรก เข้ากรุงเทพฯไปนอนรอโหวต รอบ 5-6 และอีก 2,864 คน จะตามไปสมทบ รวมเป็น 3013 คน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา แสดงความคิดเห็นว่า การกล่าวหาเกี่ยวกับการเลือกสว.ควรมีหลักฐานมาแสดง หรือบุคคลที่อยู่ในการเลือก สว.ออกมายอมรับเอง จึงมองว่าประเด็นที่เกิดขึ้น พูดโดยไม่มีหลักฐานอาจมีเจตนาทำให้เกิดกระบวนการล้มกระดานการเลือก สว. ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้ เพราะถึงเวลาต้องเปลี่ยน สว.แล้ว

อย่างไรก็ตาม กกต.ควรดำเนินการตามกรอบเวลา คือ ประกาศรับรองสว.ในวันที่ 2 กรกฎาคม หากมีประเด็นต้องตรวจสอบหรือเอาผิดก็สามารถย้อนหลังได้ ส่วนการฮั้วหรือจัดตั้ง หากมีหลักฐานการใช้เงินว่าจ้างสมัครต้องดำเนินคดีเป็นรายบุคคล แต่ไม่ควรล้มกระดานการเลือก สว.ทั้งหมด เพราะจะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนได้ เนื่องจากมีคนที่ชอบและไม่ชอบให้ สว.อยู่ยาว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า ระเบียบของ กกต.ในเรื่องการสมัคร สว.ถือว่าเป็นปัญหาในทางกฎหมาย วันที่ 2 กรกฏาคม 2567กกต.จะประกาศรายชื่อได้หรือไม่ ทำให้ สว.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ไปถึง สว.ชุดใหม่ที่ กกต.ประกาศรายชื่ออกมา โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้

  • สว.ชุดเก่าหมดวาระวันที่ 10 พฤษภาคม 2567
  • จากนั้นเปิดรับสมัคร สว.วันที่ 13 พฤษภาคม 2567
  • ก่อนเข้าสู่การคัดเลือกระดับอำเภอวันที่ 9 มิถุนายน 2567
  • คัดเลือกระดับจังหวัด 16 มิถุนายน 2567 
  • คัดเลือกระดับประเทศ 26มิถุนายน 2567 โดยการคัดเลือกมีการโหวต 6 ครั้งตั้งแต่กลุ่มอาชีพตัวเอง 20 กลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอจนมาถึงระดับจังหวัด และประเทศ

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า แต่เรื่องใหญ่อยู่ที่การห้ามแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567เป็นต้นไป โดยเฉพาะการห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จนกว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกามีประกาศบังคับใช้ ทำให้มีคำถามว่าผู้สมัครจะแนะนำตัวในวิธีอื่นอย่างไร จึงต้องมีการตีความว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้คือทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้

นอกจากนี้ยังมีการจำกัดการแนะนำตัวของผู้สมัครแค่กระดาษ A4 ไม่เกิน 2 หน้า ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงกว่า ระเบียบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูฯ (พรป.) กกต.หรือไม่ นอกจากนี้การชักชวนให้ประชาชนมาสมัคร สว.ตนเห็นว่าสามารถทำได้ ตราบใดไม่ใช้ทรัพย์สินจูงใจให้สมัคร ดังนั้นการไปสมัครด้วยความตั้งใจถือเป็นสิทธิ์ประชาชนในการชักชวนกันได้เช่นกัน “แต่หากผู้สมัครคนใดไม่ทำตามที่ กกต.กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นหรือตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เรื่องเห็นว่าทำไม กกต.กำหนดให้คนเข้าคุกได้ ทั้งที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนผู้สมัคร สว.ครั้งนี้เชื่อว่า จะอยู่ในระดับหลักแสนคน จากเดิมยุค คสช.อยู่ที่ประมาณ 5.5 หมื่นคน และเมื่อมีผู้สมัครจำนวนมากก็เชื่อว่าจะมีการคัดค้านร้องเรียนตามมาหลายเรื่อง ทำให้วันที่ 2 กรกฏาคม 2567กกต.ไม่น่าจะประกาศรายชื่อได้ทัน แต่สิ่งหนึ่งที่ กกต.จะดำเนินการทันที อีกทั้งการคัดเลือกในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ จะบันทึกภาพและเสียงไว้เป็นหลักฐาน ทั้งที่การคัดเลือกควรทำเป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้เพื่อความโปร่งใส ไม่ให้เกิดความชอบมาพากลในการคัดเลือกตามมาและควรให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้

“เรื่องการคัดเลือกควรทำเป็นสาธารณะ โดยสามารถออนแอร์ได้เลยตั้งแต่ระดับอำเภอ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส ส่วนการจำกัดสิทธิ์ผู้สมัครนั้น กกต.ควรแก้ไข และควรให้ผู้สมัครรู้จักกันข้ามกันได้”