Authority & Harm
เอเลี่ยนสายหนึบ'ปลิงน้ำจืด'คืนชีพใหม่ หลังถูกน้ำเค็มดอง/ชี้เป็นปลิงจากถิ่นอื่น
ฉะเชิงเทรา-เอเลี่ยนสายหนึบไม่ตายง่าย หวนฟื้นคืนชีพกลับมาอาระวาดอีกครั้ง หลังผ่านภาวะน้ำเค็มรุกจากเขื่อนดินแตกที่ปากคลองประเวศเมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน เผยสายพันธุ์ดั้งเดิมเจ้าถิ่นหายสาบสูญไปนานแล้วหลายชนิด ทำชาวนาคนหาปลาทำมาหากินในน้ำยากลำบาก เหตุมีศัตรูข้ามถิ่นเป็นอุปสรรคต่ออาชีพอื้อ ชี้มนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่นำเข้ามาแพร่ระบาดจากต่างประเทศ เพื่อหวังสร้างสัตว์เศรษฐกิจแนวแปลกไปจากวิถีดั้งเดิม
วันที่ 6 มิ.ย.67 เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวิชาญ จำเริญ อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 ม.5 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรชาวนาว่า ในพื้นที่แถบย่าน ต.บางเตย ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ และใกล้เคียง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะคูคลองในพื้นที่ ได้เริ่มมีปลิงกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งแล้ว หลังฝนตกลงมาในพื้นที่มากจนทำให้น้ำในแหล่งน้ำและคลองทุกสายจืดลง
โดยปลิงที่กำลังกลับมาแพร่ระบาดตามแหล่งน้ำอีกครั้งนั้น เป็นปลิงที่ไม่ใช่ปลิงควายสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ในท้องถิ่น ที่ได้หายสาบสูญไปจากพื้นที่นานแล้ว เนื่องจากการประกอบอาชีพแต่ละด้านในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีการใช้สารเคมีกันอย่างมากทั้งอุตสาหกรรม และการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศรัตรูพืช จึงทำให้ปลิงควายที่เคยมีมานับแต่โบราณในอดีตได้หายไปจนหมดจากพื้นที่ แต่ปลิงที่พบว่ามีการแพร่ระบาดกันอยู่ตามแหล่งน้ำในปัจจุบันนี้ เป็นปลิงอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับปลิงควาย
แต่มีขนาดตัวที่เล็กกว่า และสีจะมีความแตกต่างออกไป โดยปกติปลิงควายประจำถิ่นจะเป็นปลิงที่มีสีดำเข้มหรือเกือบจะดำสนิท แต่ปลิงที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันกลับมีลำตัวออกเป็นสีแดงอมน้ำตาล และมีแถบสีเหลืองจางๆ ที่ด้านข้างลำตัว ทั้งยังปากไวและกัดเบากว่าปลิงควายมาก จนผู้ที่ถูกกัดแทบจะไม่รู้ตัวในเวลาถูกปลิงชนิดนี้กัด กว่าจะรู้ตัวเมื่อหลังจากขึ้นมาจากน้ำแล้ว และมักจะมุดเข้าไปแอบกัดยังในบริเวณใต้ร่มผ้าหรือตามซอกขาหนีบ จึงทำให้สังเกตุเห็นได้ยาก
กว่าผู้ถูกกัดจะเห็นก็ต่อเมื่อถูกปลิงดูดเลือดเข้าไปจนอิ่ม และลำตัวมีน้ำหนักมากแล้วจึงจะรู้ตัวเพราะปลิงจะคลายหลุดออกมา ซึ่งปลิงชนิดนี้เพิ่งเคยพบเห็นว่ามีการแพร่ระบาดออกมาเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งมาพร้อมกับคำร่ำลือและบอกต่อกันมาว่า เป็นปลิงที่ถูกปล่อยออกมาจากผู้ที่นำมาเลี้ยงไว้ เพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดโรคระบาด จึงทำให้ส่งปลิงชนิดนี้ออกไปขายยังต่างประเทศไม่ได้ จึงได้นำออกมาเทปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายไปทั่วในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง ตามลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อถึงกัน
จึงทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำกินกับน้ำ ทั้งคนหาปลาและชาวนานั้น ทำมาหากินกันลำบากมากขึ้นเพราะไม่กล้าที่จะลงไปในแหล่งน้ำ เนื่องจากกลัวถูกปลิงกัด โดยเฉพาะตนเองนั้นกลัวปลิงเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อลงไปในน้ำครั้งใดก็มักจะถูกปลิงกัดติดตัวขึ้นมาเสมอแทบทุกครั้ง ซึ่งล่าสุดนั้นได้ลงไปแหวกหญ้าวางท่อเพื่อสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาข้าวก็ยังถูกปลิงกัด จึงต้องใช้ผ้าตาถี่กรองน้ำก่อนสูบน้ำเข้านาข้าวในทุกครั้ง เพราะเกรงว่าจะลงไปทำงานในผืนนาไม่สะดวก และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาพิสูจน์ว่าปลิงที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในที่บริเวณนี้เป็นสายพันธุ์อะไร และมาจากไหนให้แน่ชัด นายวิชาญ กล่าว
และกล่าวต่อว่า นอกจากปลิงที่เชื่อกันว่าเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงจากต่างประเทศแล้ว ยังมีศัตรูนาข้าว เช่น หอยเชอรี่ ที่ไม่ใช่สัตว์ประจำท้องถิ่นอีกเช่นกัน ที่ได้เคยมีคนนำเข้ามาเลี้ยงเพื่อส่งไปขายยังไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วทั้งประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนหอยที่มีกระดองใหญ่ลักษณะคล้ายคลึงกันหรือหอยดั้งเดิมประจำถิ่นที่เคยมีอยู่ในท้องนา คือ หอยโข่งนั้นได้สูญพันธุ์หายไปจากพื้นที่นานแล้ว หลังจากหอยเชอรี่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นมามาก
โดยหอยเชอรี่ถือเป็นศรัตรูนาข้าวตัวฉกาจมาก เพราะจะกัดกินต้นข้าวที่กำลังงอกจนเสียหาย แม้ชาวนาจะหว่านซ้ำเพื่อซ่อมแซมข้าวที่ถูกหอยกัดกินไป ข้าวก็จะไม่งอกขึ้นมาทดแทนตรงบริเวณที่หว่านซ่อมแซมใหม่ เนื่องจากน้ำลายหรือเมือกหอยเชอรี่จะทำให้ต้นข้าววัยอ่อนเน่า โดยจะต้องพลิกดินหรือไถ่ดินใหม่ก่อนหว่านข้าวจึงจะงอก หรืออาจต้องนำต้นข้าวที่เติบโตแล้วมาดำซ่อมแซมตรงพื้นที่บริเวณนั้น
นอกจากนี้หอยเชอรี่ยังจะขึ้นไปวางไข่ในที่สูงที่บนต้นข้าวหรือต้นหญ้าเป็นฟองเกาะกันเป็นกลุ่มสีชมพู ผิดไปจากหอยโข่งในสมัยก่อน ที่จะวางไข่สีขาวเมล็ดเท่าถั่วเขียวเกาะกันเป็นก้อนแบบฝังดินตามแนวชายคันนา ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากสัตว์ต่างถิ่นต่อชาวนานั้น ยังมีอีกมากโดยเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีคนนำนากหรือหนูขนาดใหญ่ที่ดูคล้ายกับหนูพุกตามท้องนา แต่มีฝ่าเท้าแบนและตัวใหญ่กว่าหนูพุกประมาณ 2 เท่าตัวมาเลี้ยง และมีการปล่อยให้หลุดออกมากัดกินต้นข้าวของชาวนา
โดยเป็นสัตว์ที่กินผลผลิตแบบแหลกละเอียดจนเกษตรกรไม่เหลืออะไรเลยเพราะตัวใหญ่ แต่โชคดีที่ไม่แพร่ระบาดออกไปมากนักเพราะเป็นสัตว์ใหญ่กว่าหนูนาตามธรรมชาติทั่วไป คนจึงสังเกตุเห็นและจับไปได้ง่าย แต่ก็ถือเป็นสัตว์ที่ถูกนำเข้ามาสร้างความเสียหายต่อชาวนา ที่มีคนนำมาอย่างหลากหลายรูปแบบมาก แม้ข้าวจะราคาดีขายได้ถึงเกวียนละ 10,500 บาท แต่ศัตรูของการประกอบอาชีพก็มีมากเพิ่มขึ้นด้วย นายวิชาญ กล่าว
ขณะที่ นายชูเกียรติ มีเจริญ อายุ 59 ปี ชาวหมู่ 8 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ที่ออกมาหาปลาตามลำคลองในคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย บอกว่า หลังน้ำเค็มเข้ามาตามลำคลอง จากเหตุการณ์เขื่อนทำนบดินพังทลายที่ปากคลองประเวศบุรีรมย์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 ได้ทำให้ปลิงที่เคยชุกชุมซาลงไป หรือมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก เพราะโดยปกติเมื่อก้าวหย่อนขาลงไปยังในลำคลอง จนทำให้เกิดมีน้ำขุ่นขึ้นมาก็จะเห็นปลิงแหวกว่ายเข้ามาหาไล่เกาะขาทันที
แต่ปัจจุบันไม่ชุกชุมมากเหมือนเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ หลังจากลงไปในน้ำแล้วยังไม่ถูกปลิงกัด แต่ก็ยังมีชาวบ้านถูกปลิงกัดกันอยู่บ้าง โดยปลิงที่ชุกชุมนี้ ทราบจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ช่วงก่อนหน้านี้ได้มีผู้นำมาเลี้ยงเพื่อส่งออกขายนำไปทำยารักษาโรคยังที่ประเทศจีน แต่หลังเกิดโรคโควิด 19 ระบาดอย่างหนักจนส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ได้ จึงได้มีการนำมาปล่อยทิ้ง ซึ่งมีบางรายได้นำมาเลี้ยงไว้ดูเล่นหรือใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน
เนื่องจากทราบมาว่า น้ำลายปลิงนั้นมีประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาโรคได้ เนื่องจากน้ำลายปลิงมีสารจำพวกฮิรูดิน เคลิน และอีกมากมายถึงกว่า10ชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการละลายลิ่มเลือด ลดการอุดตันของเส้นเลือด ถ่ายเลือด ป้องกันการแข็งตัวของเลือดในคนป่วยโรคเส้นเลือดขอด โรคเก๊า ฝีหนองจากอาการบวมอักเสบ รวมถึงโรครูมาตอยและกระดูกสันหลังอักเสบ จึงทำให้มีคนนำมาเลี้ยงกันไว้จำนวนมาก นายชูเกียรติ กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา