In Thailand
รมต.เฉลิมชัยส่งมอบน้ำบาดาลระยะไกล ช่วยชาวสกลนครมีน้ำกินใช้

สกลนคร-"ดร.เฉลิมชัย" ส่งมอบน้ำบาดาลระยะไกล ให้ชาวบ้านแสนพัน และติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษา สำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่หาน้ำยาก จังหวัดสกลนคร
วันที่ 27 เมษายน 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหาร ทส. นายชาตรี หล้าพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร และ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมลงพื้นที่ บ้านแสนพัน หมู่ที่ 6 ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เพื่อเปิดโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน และนายวีรรัตน์ ธีรมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวต้อนรับ
สืบเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลอุ่มจาน มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอ ส่วนน้ำบาดาลที่ใช้พบปัญหามีคุณภาพกร่อย เค็ม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ดำเนินการเจาะสำรวจในพื้นที่บ้านแสนพัน หมู่ที่ 6 พบว่ามีศักยภาพน้ำบาดาล เฉลี่ย 5-7 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และคุณภาพน้ำบาดาลจืด สามารถนำไปพัฒนาเป็นโครงการได้ จึงได้จัดทำ “โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567" ซึ่งประกอบด้วยบ่อบาดาลขนาด 6 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ ถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 100 ลบ.ม. จำนวน 2 ถัง หอถังสูง ขนาด 110 ลบ.ม. ปัจจุบันสามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้มากถึง 131,400 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 339 ครัวเรือน หรือ 1,049 คน ประชาชนใช้น้ำไปแล้ว 4,765 ลูกบาศก์เมตร
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า “โครงการศึกษา สำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (ระยะที่ 3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยในช่วงหน้าแล้งน้ำผิวดินบางแห่งแห้งขอด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำบาดาลระดับลึกเป็นน้ำเค็ม จึงไม่สามารถพัฒนาบ่อน้ำบาดาลระดับลึกได้ ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงจัดทำ “โครงการศึกษา สำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (ระยะที่ 3)” ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยการดำเนินการเจาะสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาล ในตำบลตองโขบ 9 หมู่บ้าน จำนวน 2 บ่อ ซึ่งบ่อที่ 1 สามารถพัฒนาน้ำได้ 10 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง คุณภาพน้ำจืด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเจาะบ่อที่ 2 และเมื่อดำเนินการเจาะสำรวจเสร็จสิ้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการจัดทำ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาภัยแล้ง” เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลตองโขบ จังหวัดสกลนคร ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ จำนวน 1,675 ครัวเรือน หรือ 6,764 คน ปริมาณน้ำที่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ได้ 219,000 ลูกบาศก์ก็เมตรต่อปี
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นี้ จึงมีโครงการพัฒนาน้ำบาดาลที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ได้แก่
1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8 แห่ง
2. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ จำนวน 4 แห่ง
3. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 2 แห่ง
4. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 2 แห่ง
5. โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม จำนวน 2 แห่ง
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) มีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ต้องการให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข จึงมุ่งเน้นการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ครบทุกมิติ โดยสนับสนุนให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่ภาคครัวเรือน ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเข้าถึงแหล่งน้ำ ในระดับชุมชนแก่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และส่งเสริมให้มีการใช้น้ำบาดาลอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกำชับให้ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านทุกคน ช่วยกันดูแลรักษาเครื่องมือ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดไป และร่วมแบ่งปันน้ำกินน้ำใช้กันอย่างทั่วถึงและเพียงพอ.