In Bangkok

รุกพัฒนาสวน15นาทีหลังป้ายเขตตลิ่งชัน ยกต้นแบบคัดแยกขยะอมรินทร์ฯ



กรุงเทพฯ-พัฒนาสวน 15 นาที หลังป้ายสำนักงานเขตตลิ่งชัน ยกต้นแบบคัดแยกขยะอมรินทร์คอร์เปอเรชั่น หาแนวทางแก้ปัญหาจุดกลับรถหน้าตลาดเทพเจริญ 9 ตรวจเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการสรินราชพฤกษ์-พุทธมณฑลสาย 1 

(7 มิ.ย. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ประกอบด้วย 

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณหลังป้ายสำนักงานเขตตลิ่งชัน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมสี่มุมถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 3 งาน 7 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 2.สวนมณฑลภิรมย์ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 พื้นที่ 2 งาน 83 ตารางวา และ 3.สวนถนนบริเวณใต้สะพานถนนพุทธมณฑลข้ามถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมใต้สะพานข้ามคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑล พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา 2.ถนนราชพฤกษ์ บริเวณจุดกลับรถ (ช่วงคลองขุนจันทร์) ตัดถนนเลียบทางรถไฟ พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 46.5 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท 3.สวนน้ำตลิ่งชัน บริเวณริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 พื้นที่ 19 ไร่ ดำเนินการคืบหน้าแล้ว 55% 4.สวนศาลารวมใจ พื้นที่ 79.73 ตารางวา 5.สวนบริเวณหลังป้ายสำนักงานเขต พื้นที่ 1 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 6.ถนนพรานนก-พุทธมณฑล ทางออกถนนกาญจนาภิเษก พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 44.86 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 1 งาน 28.1 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนบริเวณใต้สะพานยกระดับถนนราชพฤกษ์ หน้าร้านเสือคาเฟ่ พื้นที่ 2 งาน 21.75 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท อยู่ระหว่างเตรียมการ 9.สวนบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานคลองบางน้อย พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน อยู่ระหว่างเตรียมการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริงเมื่อเข้ามาใช้บริการภายในสวน รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวนเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง เพื่อให้ได้ครบทั้ง 10 สวนตามที่กำหนดไว้ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถนนชัยพฤกษ์ พื้นที่ 20 ไร่ พนักงาน 800 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะให้กับบริษัทฯ มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป โดยแยกขยะเศษอาหารให้แม่บ้านนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล จัดกิจกรรมโครงการคัดแยกขยะรีไซเคิลภายในบริษัทฯ และอาคารสำนักงาน โดยพนักงานของบริษัทฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นรายได้แก่พนักงานทำความสะอาดภายในบริษัทฯ 3.ขยะทั่วไป หลังจากการคัดแยกจะรวบรวมไว้บริเวณจุดรวมที่กำหนด เพื่อให้เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งรวบรวม แจ้งให้เขตฯ มารับนำส่งสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 800 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจพื้นที่ว่างด้านข้างซึ่งบริษัทจะจัดทำเป็นสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปิดให้ประชาชนเข้ามานั่งเล่นพักผ่อนและออกกำลังกาย 

ตรวจจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ บริเวณจุดกลับรถหน้าตลาดเทพเจริญ 9 ถนนพรานนก-พุทธมณฑล ที่ผ่านมามีรถบรรทุกขนาดใหญ่ เข้ามากลับรถในบริเวณจุดดังกล่าว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนเสารั้วกั้นขอบทางเสียหาย เนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับกลับรถยนต์ขนาดเล็ก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการสริน ราชพฤกษ์-พุทธมณฑลสาย 1 ดำเนินการโดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 2 ชั้น จำนวน 89 หลัง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทตรวจควันดำ 8 แห่ง ประเภทถมดิน-ท่าทราย 3 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตตลิ่งชัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล