In Bangkok
ลุยจัดระเบียบแผงค้าสาทร-บางคอแหลม ยึดหลักเกณฑ์หากผู้ค้าฝ่าฝืนให้ยกเลิก
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.ลุยจัดระเบียบแผงค้าสาทรและบางคอแหลม ยึดประกาศหลักเกณฑ์พื้นที่ทำการค้า หากผู้ค้าฝ่าฝืนไม่ทำตามให้ยกเลิก เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกเขตต้องทำได้
(8 มิ.ย.67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าตลาดสะพาน 2 ถนนจันทร์ เขตสาทร บริเวณหน้าตลาดคลองสวนหลวง ถนนเจริญกรุง และบริเวณหน้าตลาดบางคอแหลม เขตบางคอแหลม การจัดทำสวน 15 นาที ในรูปแบบ Pocket Park สวนสุขใจ @ บ้านแบบ เขตสาทร และ Pocket Park สวนยินดี เขตบางพลัด
“ในช่วงเช้าวันเสาร์ จะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใน 50 สำนักงานเขต บางจุดได้รับการร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย บางจุดมีการจอดรถริมถนนส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด บางจุดอยู่กลุ่มในเป้าหมายที่เขตจะยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จะเห็นได้ว่าแต่ละจุดย่อมมีปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันในช่วงเวลาวันหยุดดังกล่าว จะมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากที่เขตได้รายงานและส่งภาพเข้ามาทุกสัปดาห์ ทำให้สามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จุดแรกเป็นการติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดสะพาน 2 ถนนจันทร์ เขตสาทร มีผู้ค้า 14 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และสินค้าเบ็ดเตล็ด ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งจัดหาสถานที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับผู้ค้าในจุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ค้ายังคงทำการค้าได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จากนั้นจะย้ายผู้ค้าทั้งหมดเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับต่อไป
สำหรับเขตสาทร มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 184 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ถนนเซนต์หลุยส์ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 7.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 8.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าเพิ่มเติมอีก 3 จุด ได้แก่ 1.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย 2.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย กำหนดยกเลิกตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า จุดต่อมาติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดคลองสวนหลวง ถนนเจริญกรุง 101-103 เขตบางคอแหลม โดยในวันนี้เป็นการตรวจความเรียบร้อยต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ตลาดคลองสวนหลวง เป็นพื้นที่ทำการค้าอยู่ระหว่างรอประกาศ มีผู้ค้า 69 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินการขีดสีตีเส้นขอบเขตแผงค้า กำหนดแนวตั้งแผงค้าด้านนอกอาคาร กำชับร้านค้าในอาคารไม่ให้ตั้งวางสินค้า รวมถึงโต๊ะและเก้าอี้ออกมาด้านนอกบนทางเท้า โดยจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ เพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันบริเวณตลาดบางคอแหลม ถนนเจริญกรุง มีผู้ค้า 41 ราย จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน และสินค้าเบ็ดเตล็ด ซึ่งบริเวณดังกล่าวพื้นที่ทางเท้าจะคับแคบ เมื่อตั้งวางแผงค้าแล้วจะเหลือพื้นที่ทางเท้าไม่มาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางสัญจร อีกทั้งด้านในตลาดและอาคารใกล้เคียงยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ โดยเขตฯ จะประสานเจ้าของพื้นที่ รวมถึงประชาสัมพันธ์กับผู้ค้าเพื่อหาแนวทางในการย้ายผู้ค้าที่อยู่บนทางเท้าเข้าไปด้านในต่อไป อย่างไรก็ตามจุดทำการค้าทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง โดยได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมถึงพื้นที่ทำการค้า รวมถึงความร่วมมือของผู้ค้าในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้า หากผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้เขตฯ พิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดเส้นทางถนนเจริญกรุง ทั้งนี้จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2567
ส่วนเขตบางคอแหลม มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 66 ราย ได้แก่ 1.ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. 2.ซอยเจริญกรุง 99 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. สำหรับพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 139 ราย ได้แก่ 1.ฝั่งบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และฝั่งตรงข้ามบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ผู้ค้า 76 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. 2.ถนนเจริญกรุง 89-91 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 3.ตลาดบางคอแหลม ผู้ค้า 41 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าอยู่ระหว่างรอประกาศ จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ตลาดคลองสวนหลวง ถนนเจริญกรุง 101-103 ผู้ค้า 69 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 2.เจริญกรุง 81-85 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-13.00 น. และ 14.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ย้ายผู้ค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (ผู้ค้า 8 ราย เลิกทำการค้า 1 ราย) เข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณพื้นที่ว่างหน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยดำเนินการขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตและจัดทำแผงค้าให้มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบในพื้นที่ ส่วนผู้ค้าด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย กำหนดย้ายเข้า Hawker Center หรือจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับภายในเดือนกรกฎาคม 2567
“การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านั้น เจ้าหน้าที่เทศกิจควรดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หาบเร่แผงลอย เชื่อมั่นว่าหากเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกเขตมีความตั้งใจจริงแล้ว จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วงตามที่ได้รับมอบหมาย โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวย้ำ
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที ในรูปแบบ Pocket Park สวนสุขใจ @ บ้านแบบ เขตสาทร พื้นที่ 1,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างใต้ทางด่วน ทิศตะวันออกติดถนนเจริญราษฎร์ ทิศเหนือติดสนามกีฬาชุมชนบ้านแบบ ทิศตะวันตกติดชุมชนบ้านแบบ ทิศใต้ติดคลองวัดยานนาวา และ Pocket Park สวนยินดี เขตบางพลัด ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างข้างร้านอาหารขนาบน้ำ บริเวณจุดกลับรถเชิงสะพานกรุงธน ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวนดังกล่าว จัดทำรูปแบบและขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างรอบรอบคอบ กำหนดรายละเอียดของเนื้อลงไปอย่างชัดเจน รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้พื้นที่ ในกรณีต้องเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ออกจากพื้นที่ โดยให้รวบรวมข้อมูลเอกสารต่างๆ นำเข้าที่ประชุม เพื่อหารือการดำเนินงานร่วมกันอีกครั้งในวันพุธนี้
ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล