EDU Research & ESG

มจธ.จัดเวทีTCF2024แลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไทย



กรุงเทพฯ-เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ณ Auditorium อาคาร KX Knowledge Xchange ถ.กรุงธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025 การยกระดับอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งกิจกรรมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566 ในอันดับที่ 30 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33 ซึ่งในปี 2567 นี้ พบว่าข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทยอยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ดังนั้น ความท้าทายของภาคธุรกิจไทย คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 2.2-2.7 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเพิ่มเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ได้ในปีหน้า จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคเกษตรและการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรค นอกจากหนี้ครัวเรือนที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาทแล้ว ก็คือการ reform ภาคอุตสาหกรรมไปสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” ที่เป็นหนึ่งในโจทย์หลักคือการสร้างคนที่เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้

หนึ่งในรูปแบบสงครามยุคหน้า คือ Talent War หรือสงครามแย่งคนเก่ง ที่สิงคโปร์คนเขาเก่งมาก  ซึ่งคนไทยก็เก่งมากๆ เพียงแต่ ecosystem ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นการสร้างเวทีจะดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้และดึงคนเก่งมาอยู่ที่ประเทศไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก พร้อมไปกับการผลักดันให้ไทยมี Digital Transformation เพื่อไปสู่ E-Government เต็มรูปแบบให้ได้”

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอประเด็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน”ว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ประกอบด้วย 1. Technology Disruption หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนำเอาระบบ AI และ Robot เข้ามามีบทบาทมากขึ้น 2. สงครามการค้า (Trade War) ที่กำลังจะกลับมาและสงครามด้านเทคโนโลยี (Technology War) ที่กำลังรุนแรงยิ่งขึ้น 3. ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น 4. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่กดดันเศรษฐกิจโลก 5. การเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่นำไปสู่มาตรการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ

ความสามารถทางการแข่งขันของเราขยับขึ้นจากอันดับที่ 33 มาเป็น 30  แต่เป้าหมายของเรา คือ ติด 20 อันดับแรก นี่คือโจทย์ของประเทศ และสภาอุตสาหกรรมว่าจะทำอย่างไรให้ลำดับของเราเพิ่มขึ้น ตั้งแต่การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมใหม่ เพราะตอนนี้เรากำลังถูก Disruption ด้วยเทคโนโลยี และยังมี new S-Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์วงจร ที่นอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของเราแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ต่างชาติจะเข้ามาในบ้านเรามากขึ้นเพราะเราเป็นประเทศที่มีแรงงาน  สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้ประเทศไทยพร้อม และอยู่ในจอเรดาร์ของผู้ที่อยากเข้ามาลงทุน เราต้องใช้วิกฤตครั้งนี้ในการสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้น สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม  และนี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาคุยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในการที่จะออกแบบดีไซน์หลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยรวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มจธ. กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในแข่งขันขององค์กรในยุคนี้และยุคต่อไป คือความเปลี่ยนแปลงของโลก (megatrend) ที่ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ คือ ด้านสภาวะภูมิอากาศ ที่ทำให้วัตถุดิบบางอย่างมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น  ด้านเทคโนโลยี ที่ต้องมีการเตรียมคนของเราให้พร้อมรับกับเทคโนโลยี AI และ Robotics  ด้านประชากรศาสตร์ ที่ต้องรับมือกับสังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นคนวัยทำงานน้อยลง และด้านภูมิรัฐศาสตร์  รวมถึงด้านสังคม

สินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ สินค้าที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และมากกว่านั้น คือ การบริหารองค์กกรก็มีความโปร่งใส ความถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของสังคม  คำถาม คือ โลกเปลี่ยนแล้ว แต่ในบทบาทของเรา วิธีการบริหาร และการพัฒนาสินค้าและบริการต้องเปลี่ยนไหม ซึ่งหากมองเป็นโอกาส ก็จะทำให้สามาถวางแผนธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้”

จากนอกนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ“เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมี รวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหาร สายงานการเงินและกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน), วริทธิ์ กฤตผล Commercial Director บริษัท Rayong Engineering & Plant Service Co., Ltd. หรือ REPCO Nex Industrial Solutions ในเครือ SCG และวิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital Mar Tech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.รังสรรค์ เกียรติ์ภานนท์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมข้อคิดสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นสร้างหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมในองค์กร

สำหรับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนด้วย STECO’s Enterprise Mix เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้แนวคิด 5Ps ได้แก่ Purpose (จุดมุ่งหมาย) People (บุคลากร) Performance (ผลงาน) Process (กระบวนการทำงาน) และ Partner (พันธมิตร) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้เกิดการยกระดับทักษะบุคคล ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันองค์กร และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป