In Bangkok

'ยานนาวา'ปั้นสวน15นาทีทะลุเป้านำโด่ง 14สวนกระจายในพื้นที่เล็งเพิ่มอีก1แห่ง



กรุงเทพฯ-ยานนาวาปั้นสวน 15 นาทีทะลุเป้า นำโด่ง 14 สวนกระจายในพื้นที่ เล็งเพิ่มอีกสวนวัดดอกไม้สาธุประดิษฐ์ 58 พร้อมปลูกต้นไม้สร้างร่มเงาสวนริมคลองสวน ชมคัดแยกขยะโรงแรมชาเทรียม จัดระเบียบเข้มผู้ค้าสาธุประดิษฐ์ 19 

(13 มิ.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตยานนาวา ประกอบด้วย 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณรมณียสถาน โรงเลื่อยเก่า วัดดอกไม้ ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัดดอกไม้ ซึ่งทางวัดมีความประสงค์ที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ โดยจัดทำสวน 15 นาที เพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบลานธรรม เพิ่มความร่มรื่นและสวยงาม จากนั้นติดตามการพัฒนาสวน 15 นาที สวนริมคลองสวน ซึ่งเขตฯ ได้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ที่ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นและสวยงาม จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองช่องนนทรี (สวนเรือโบราณยานนาวา) พื้นที่ 1 ไร่ 10 ตารางวา 2.สวนหย่อมข้างบริษัทกิมง้วน พื้นที่ 40 ตารางวา 3.สวนหย่อมสุขภาพ พื้นที่ 2 งาน 40 ตารางวา 4.สวนริมคลองสวน พื้นที่ 1 งาน 76 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนถนนริมทาง ถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาเข้า พื้นที่ 1 งาน 12 ตารางวา 2.สวนถนนริมทาง ถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก พื้นที่ 96 ตารางวา 3.สวนหย่อมหอนาฬิกา หน้าหมู่บ้านรวยรุ่งเรือง พื้นที่ 1 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมริมคลองวัดดอกไม้ พื้นที่ 1 งาน 42 ตารางวา 2.สวนรัชดา-นราธิวาส พื้นที่ 742 ตารางเมตร 3.สวนคลองมะนาว-รัชดา ส่วนที่ 1 พื้นที่ 1,421 ตารางเมตร ส่วนที่ 2 พื้นที่ 1,498 ตารางเมตร ส่วนที่ 3 พื้นที่ 3,990 ตารางเมตร 4.สวนพักใจ บริเวณที่ว่างไหล่คลองเลียบถนนพระรามที่ 3 ฝั่งขาเข้า พื้นที่ 2,331 ตารางเมตร 5.สวนหน้าโลตัส พื้นที่ 1,380 ตารางเมตร 6.สวนคลองวัดด่าน พื้นที่ 168 ตารางเมตร 7.สวนรัชดาภิเษก-พระรามที่ 3 พื้นที่ 9,900 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมชาเทรียม เรซิเดนซ์ สาทร กรุงเทพฯ พื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2552 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทางและนำมาจัดเก็บในห้องขยะเปียก จะมีเกษตรกรมารับซื้อเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล แผนกแม่บ้าน แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทาง นำส่งให้ผู้รับผิดชอบดูแลเก็บขยะรีไซเคิลคัดแยกอีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลาง 3.ขยะทั่วไป แผนกแม่บ้าน แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทาง นำส่งให้ผู้รับผิดชอบดูแลคัดแยกอีกครั้ง เพื่อส่งต่อให้เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย แผนกแม่บ้านคัดแยกจากต้นทางและนำส่งให้ผู้รับผิดชอบดูแลจุดพักขยะอันตราย เพื่อส่งต่อให้เขตฯ จัดเก็บ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,375 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,885 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 37 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 37  กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 173 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 173 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่โรงแรมในการคัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เพื่อให้การคัดแยกขยะและการจัดเก็บไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสาธุประดิษฐ์ 19 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 43 ราย ได้แก่ 1.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ทางเข้าอาคารฟอร์จูนทาวน์ ถึงทางออกอาคารฟอร์จูนทาวน์ ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 2.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ หน้าสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ถึงซอยสาธุประดิษฐ์ 55 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ในส่วนของพื้นที่ทำการค้าซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถึงซอยนางลิ้นจี่ 3 ผู้ค้า 8 ราย เขตฯ ได้ย้ายผู้ค้าบริเวณดังกล่าว เข้าไปทำการค้าบริเวณที่ว่างด้านข้าง 7-11 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดจากการจอดรถขายสินค้า ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 203 ราย ได้แก่ 1.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 309/6 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 317/8 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 2.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถึงหน้าตลาดครูหวี ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 3.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ฝั่งถนนสาธุประดิษฐ์ ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงปากซอยสาธุประดิษฐ์ 39 และฝั่งถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงแยกถนนนนทรี ผู้ค้า 152 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 2.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย โดยยกเลิกตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ค้าได้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ ผู้ค้าบางส่วนเลิกทำการค้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตในการตั้งวางแผงค้าให้ชัดเจน ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยรายหรือกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ โดยให้ผู้ค้าย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณตลาดนัดสาธุ ซอยสาธุประดิษฐ์ 3 เพื่อความเป็นระเบียบในพื้นที่ 

ในการนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล